ส่องนโยบาย“ปั้นคน”สร้างชาติ ไม่ว้าวเท่า“แจกเงินเกินจริง”

16 เม.ย. 2566 | 03:59 น.

เปิดนโยบายด้านการศึกษาพรรคการเมือง หลายพรรคมีความคล้ายกัน เน้นสำคัญตั้งแต่เด็กแรก จนถึงวัยทำงาน ฝึกทักษะในสถาบันฝึกอาชีวะ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ยังไม่ปังเท่านโยบายแจกเงิน

กลายเป็นประเด็นร้อน หลัง นายเศรษฐา ทวีสิน  แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย  ประกาศนโยบาย “กระเป๋าเงินดิจิทัล” แจกวอลล็อตให้กับบุคคลผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เติมเงินให้ขั้นต่ำ 10,000 บาท จนถูกสังคมโจมตีอย่างหนัก เพราะอาจต้องใช้เงินมาไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท  โจทย์สำคัญคือจะเอาเงินมาจากไหน

การนำเสนอนโยบายลักษณะ “ประชานิยม” เกินจริง ไม่ได้มีเฉพาะพรรคเพื่อไทย มีอีกหลายพรรคที่มีลักษณะเดียวกัน  สำนักงาน กกต. ต้องทำหนังสือส่งไปยังทุกพรรคการเมือง ให้ชี้แจงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการใช้งบประมาณแผ่นดินมายัง กกต.เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ

เมื่อไปเทียบนโยบายด้านการศึกษาของแต่ละพรรคการเมือง หลายพรรคการเมืองมีความคล้ายกัน เช่น  ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา   การให้ความสำคัญกับเด็กแรกเกิดจนถึง 8 ขวบ , เรียนก่อน ผ่อนทีหลัง , ฝึกทักษะในสถาบันฝึกอาชีวะ  สร้างครูต้นแบบจากครูรุ่นใหม่  หรือการปรับโครงสร้างกองทุนกู้ยืมทางการศึกษา เป็นต้น

แต่ดูเหมือนว่า ไม่ได้รับความสนใจจากสังคมเท่าที่ควร  ขณะที่พรรคการเมืองควรให้ความสำคัญอันดับแรกๆ และผลัดดันให้เกิดขึ้นจริง  เพื่อพัฒนาระบบการศึกษาและเทรนคนรุ่นใหม่ให้เป็นพลังของชาติต่อไป 
 

 
 “ประชานิยม”แจกเงินเกินจริง

นพ.บุญ วนาสิน ประธานที่ปรึกษา รพ.ธนบุรีบำรุงเมือง   สะท้อนมุมมองต่อนโยบายประชานิยม แม้จะตอบโจทย์ความยากจน แต่จะเอาเงินมาจากไหน!!พร้อมชี้ให้เห็นความสำคัญของนโยบายด้านการศึกษาว่าเป็นรากฐานของชาติ

 นพ.บุญ กล่าวว่า จากปัญหาเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ แนวนโยบายพรรคการเมืองที่บอกตอบโจทย์ความยากจน ประชานิยม แม้จะตรงเป้าหมาย แต่เราจะเอาเงินมาจากไหน โจทย์นี้คำนวนจากที่พรรคการเมืองแจก 2 ล้านล้านบาท  ยกตัวอย่างสาธารณสุขอย่างเดียว ตอนนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช. )ให้ 2 แสนล้าน ขืนแจกกันอย่างนี้ต่อไปมันจะเป็น 7 แสนล้านภายใน 10 ปี จะเอาเงินมาจากที่ไหน

เปิดนโยบายการศึกษาพรรคการเมือง

“ผมพูดเสมอว่า ความเหลื่อมล้ำ คนรวยต้องจ่ายภาษี แต่ต้องช่วยคนที่จำเห็นจริงๆสุขภาพถ้วนหน้าไม่ได้  เรื่องความเหลื่อมล้ำ คนรวยรู้จักหมอรู้จักโรงพยาบาล จะเข้าห้องพิเศษเสียเงินแค่ 200 บาท แต่คนจนรอคิว 6 เดือน บางคนรอไม่ไหวตายก่อน”

ต้องยอมรับความจริงว่าประเทศเรา ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยทุกคนได้  เอาแค่ 3,000 บาท คนแก่เราเพิ่มขึ้นทุกปี 15 ล้าน เป็น 20 ล้าน เงินก่อนนี้ 4 แสนล้านแล้ว ปัญหาคือจะหาเงินมาจากที่ไหน เรื่องทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเห็นด้วย 100 % ตอนนี้คนจนเพิ่มจาก 6 ล้าน เป็น 14 ล้านบาท 

หมอบุญขยายความว่า คนจนก็ต้องช่วยเขา แต่ช่วยเขาอย่างไร เหมือนที่ “เหมาเจอตุง” บอกว่า  ให้เบ็ดเขาแต่อย่าให้ปลาเขา  ให้เขารู้จักทำมาหากิน ในขณะนี้ชาวนาเรา ผลผลิตน้อยกว่าเวียดนาม 3 เท่า  ต้นทุนแพงกว่า 2 เท่า  แล้วจะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้นควรเน้นเรื่องการวางรากฐาน แล้วให้ประชาชนรู้จักทำมาหากิน เพิ่มโอกาสในการดำเนินชีวิต  ไม่ใช่เอามาแจกอย่างนี้  ตอนนี้คนไทย มองแต่รัฐบาล ตั้งหน้าตั้งตารอแจก

นโยบายการศึกษารากฐานของชาติ

นพ.บุญ ยอมรับว่า ประเทศไทยตอนนี้เสื่อมลงทุกด้าน ไม่ว่าเรื่องผูกขาดเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชั่น ประชานิยม หนี้ครัวเรือน หนี้ภาครัฐ  ความสามารถทางการแข่งขัน  การศึกษา ที่น่ากลัวIMF เพิ่งออกมาว่าประเทศไทยกำลังจะเข้า ช่วงเวลาที่หายไป เสียโอกาสไป 4 ปี การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผานมาเราต่ำ อีกทั้งจีดีพีเราหลุด 3 .6  เราคิดว่าจะฟื้นก็ไม่ฟื้น  ปีที่แล้ว 2.5 %  ปีนี้รัฐบาลบอก 3.5 % แต่ผมบอกไม่ถึง แค่ 2.9 % 

เหตุผลดูจาการส่งออกเราแข่งเขาไม่ได้ ติดลบมา 5 เดือนติดกัน ผมเคยบอกว่าประเทศไทย ถ้าไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ไฮเทค เรื่องเทรนคน จะไปไม่รอด

 เมื่อถามว่าเราจะทำอย่างไรให้การเมืองกินได้ แล้วประชาชนมีโอกาส ลืมตาอ้าปากได้เมื่อเราเห็นนโยบายแล้ว สิ่งที่ควรเห็นในพรรคการเมืองคืออะไร

หมอบุญ ย้ำว่า ผมพูดทุกครั้งคือ การศึกษา ความเจริญของประเทศ ขึ้นอยู่กับความสามารถของครูและการศึกษาอย่างเดียว ตราบใดที่คนในชาติไทยยังไม่จบปริญญาตรี 70 % เหมือนสิงคโปร์ โครงสร้างต่างๆ ที่เราหวัง ที่เราปรับก็ทำไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้จักช่วยเหลือตัวเอง 

“การศึกษาของเราใช้เวลามากกว่าเวียดนาม 2 เท่า  แต่เหตุผลที่ออกมามันน้อยกว่าเขา 2 เท่า ตรงนี้สำคัญ  แสดงว่ามันรั่วไหลระหว่างทาง สะท้อนคนที่บริหารไม่มีความสามารถ”นพ.บุญ ให้แง่คิดทิ้งท้าย

นโยบายการศึกษาที่เน้นพัฒนาคน ลดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นจริงหรือไม่  อยู่ที่รัฐบาลชุดใหม่ หลังเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้