คุก"โตโต้-ปิยรัฐ"20วันให้รอลงอาญา"ก้าวไกล"ไม่เปลี่ยนส่งชิงส.ส.บางนา 

24 มี.ค. 2566 | 14:12 น.

ศาลสั่งจำคุก"โตโต้-ปิยรัฐ"กับพวก คนละ 20 วัน แต่ให้รอลงอาญา ฐานมั่วสุมชุมนุมรื้อลวดหนามต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน "ก้าวไกล-โตโต้"ยันเดินหน้าชิงส.ส.บางนาต่อ 

วันที่ 24 มี.ค.2566 ที่ศาลอาญา เมื่อเวลา 11.00 น. ศาลนัดฟังคำพิพากษา คดีร่วมกันมั่วสุมชุมนุม หมายเลขดำ อ.2092/2564 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ฟ้อง นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ อดีตหัวหน้ากลุ่มการ์ดวีโว่ กับพวกรวม 19 คน เป็นจำเลย ในความผิดฐานมั่วสุมชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่ฯ ซึ่งโจทก์และจำเลยเดินทางมาศาลรับฟังคำพิพากษา

คดีนี้อัยการเป็นโจทก์ บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2563 เวลากลางคืน จำเลยกับพวกอีกหลายคน ร่วมกันจัดการชุมนุมมั่วสุม บริเวณแยกอุรุพงษ์ ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ แล้วร่วมกันรื้อลวดหีบเพลง และแผงกั้นเหล็ก ซึ่งเป็นทรัพย์สินของทางราชการ ตำรวจ สน.พญาไท ประกาศให้เลิกชุมนุมมั่วสุม แต่พวกจำเลยไม่ยอม  เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเข้าจับกุม แต่พวกจำเลยร่วมกันต่อสู้ขัดขวาง โดยใช้แผงเหล็กดันกระแทกใส่ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย จึงขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,138,140,215,216 เป็นต้น จำเลยให้การปฎิเสธ

ศาลพิเคราะห์ว่า โจทก์มีพยานหลักฐานให้รับฟังมั่นคงว่า จำเลยทั้ง 19 คน กระทำผิดฐานร่วมกันชุมนุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามป.อาญา มาตรา 215 วรรคแรกประกอบ มาตรา 83 พิพากษาจำคุกคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 9,000 บาท คำให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกคนละ 20 วัน ปรับเงินคนละ 6,000 บาท

แต่ไม่ปรากฏว่าเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี จึงรอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ให้คุมประพฤติคนละ 1 ปี และรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง ให้ทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง

หลังศาลมีคำพิพากษาข้างต้น นายปิยรัฐ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า จำเลยทั้ง 19 คนเตรียมใจมาระดับหนึ่ง ซึ่งคำพิพากษาก็ไม่เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วนจะส่งผลต่อการลงสมัครส.ส.หรือไม่นั้น นายปิยรัฐแล่าวว่า อยู่ระหว่างปรึกษาทนายความของพรรคอยู่ เพราะศาลมีคำสั่งให้ต้องทำงานบริการสังคมคะหว่างคุมประพฤติด้วย ว่าจะเข้าข่ายเป็นการสัญญาว่าจะให้ตามระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือถือเป็นการเสนอประโยชน์อื่นใดให้ประชาชนหรือไม่ เพราะอาจต้องไปทำกิจกรรมทาสีบ้าน ทาสีถนน คนได้ประโยชน์คือประชาชน เป็นการขัดกันของกฎหมายหรือไม่ ส่วนเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครส.ส. ทนายความของพรรคยืนยันไม่มีผล เนื่องจากไม่ได้ถูกจำคุกจริง 

นายปิยรัฐกล่าวด้วยว่า พรรคไม่มีความกังวลกรณีนี้ เพราะเหตุไม่รุนแรงหรือเกี่ยวกับการประท้อง เป็นเพียงการเข้าไปเก็บลวดหนาม ไม่มีการบุกรุกสถานที่หรือโจมตีสถาบัน  ไม่มีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครใด ๆ ทั้งสิ้น ตราบใดที่ยังไม่มีการจำคุกจริง

เช่นกันนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล  ในฐานะผู้ดูแลการเลือกตั้ง กทม. กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีผลต่อการเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของนายปิยรัฐ โดยเป็นกรณีการรื้อรั้วลวดหนาม ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรร้ายแรง  ศาลให้รอลงอาญา 2 ปี และมีค่าปรับ ไม่มีผลทางกฎหมายที่จะปิดกั้นไม่ให้นายปิยรัฐ เป็นผู้สมัครของพรรคก้าวไกล เพราะไม่ได้ขาดคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร พรรคก้าวไกลยืนยันว่านายปิยรัฐยังเป็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตบางนา พรรคก้าวไกล 

ปิยรัฐ หรือโตโต้ ทำกิจกรรมคัดค้านระบบโซตัสตั้งแต่สมัยเรียนคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ช่วงปี 2554-56 ได้ไปคลุกคลีกับขบวนการบคนเสื้อแดงปีกตาสว่าง รู้จักกับสมยศ พฤกษาเกษมสุข และอานนท์ นำภา 

2559 โตโต้เปิดตัวสมาคมเพื่อเพื่อน (FFA) เพื่อช่วยเหลือนักโทษทางความคิด โดยเฉพาะคดี 112 โดยมีตัวเขาเป็นนายกสมาคม และมีอานนท์ นำภา เป็นกรรมการสมาคม ปีถัดมาร่วมกับอานนท์ นำภา และรังสิมันต์ โรม ทำม็อบคนอยากเลือกตั้ง  และรณรงค์คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่บรรลุผล ต่อมาโตโต้และรังสิมันต์ สมัครเป็นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่  

ปี 2562 โตโต้ ลงสมัคร ส.ส.ที่เขต 1 จ.กาฬสินธุ์ ในนามพรรคอนาคตใหม่ สู้กับส.ส.เก่าจากพรรคเพื่อไทย แต่ฝ่าด่านคะแนนนิยมของแชมป์เก่าไม่ได้ กลับมามีบทบาทการเมืองภาคประชาชนต่อ 

ปลายปี 2563 โตโต้ เปิดตัวการ์ด 3 พระจอม หรือการ์ดที่มาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง เพื่อดูแลการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร และมีบทบาทมากขึ้นจนเป็นหัวหน้าการ์ด และต่อมาพัฒนาเป็นการ์ดอาสาวีโว่ (WeVo- We Volunteer) ส่วนใหญ่เป็นนศ.สายช่าง และวิศวฯ 

แต่หลายครั้งพบว่าเกิดปัญหากลุ่มการ์ดดูแลการชุมนุมซึ่งมาจากหลากหลายแหล่ง เกิดปัญหาขัดแย้งกันเอง หรือไม่ยอมรับคำสั่งหรือมติของแกนนำจัดการชุมนุม หลายครั้งเคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยง  ภายหลังปรับรูปแบบการชุมนุมเป็นแบบไม่มีแกนนำ ทำให้บทบาทกลุ่มการ์ดการชุมนุมลดลง กลายเป็นการเคลื่อนไหวแบบไร้รูปแบบ 

ปลายปี 2564 โตโต้ ซึ่งมีคดีความมั่นคงติดตัวเป็นพรวนถึง 31 คดี  ประกาศลดบทบาท ส่งไม้ต่อให้รุ่นน้องขึ้นมานำขบวนการ์ดวีโว่ ซึ่งถูกจับตาแต่ตอนนั้นว่าอาจเตรียมเข้าสู่การเมืองในนามพรรคก้าวไกล