ทำความรู้จัก "กปน." มีที่มาอย่างไร ทำหน้าที่อะไรในการ "เลือกตั้ง66"

13 พ.ค. 2566 | 08:58 น.

"กปน." มีที่มาอย่างไร ทำหน้าที่อะไรในการ "เลือกตั้ง66" หลายคนคงตั้งคำถามนี้ถึงหน้าที่ และบทบาท โดยในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งต้องมี กปน. ทั้งหมด 9 คน แบ่งเป็นประธานประจำหน่วย 1 คน และกรรมการอีก 8 คน

ก่อนจะถึงวัน "เลือกตั้ง66" พรุ่งนี้ 14 พฤษภาคม 2566 ฐานเศรษฐกิจ จะพาไปทำความรู้จักกับที่มาที่ไปของ "กปน." หรือที่มีชื่อเต็มว่า "คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง" เชื่อว่าที่ผ่านมา ประชาชนส่วนใหญ่คงได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ ที่ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในหน่วยเลือกตั้ง จำนวนหลายคน บุคคลเหล่านี้ที่พวกเราๆ ท่านๆ เห็นนั้น ไม่ใช่ข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)" แต่พวกเขาคือ "กปน." นั่นเอง

"กปน." มีที่มาอย่างไร

สำหรับที่มาของ กปน. ใน คู่มือปฏิบัติงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ระบุว่า  "ประธาน กปน." สามารถถูกแต่งตั้งโดย กกต.ประจำเขตจากผู้ผ่านการพิจารณาจากการอบรมหลักสูตรที่ กกต. กำหนด โดยประธาน กปน. จะต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรมโดย กกต. เท่านั้น

ทั้งนี้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 ในมาตรา 5 ระบุว่า ในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งต้องมี กปน. ทั้งสิ้นจำนวน 9 คน แบ่งเป็นประธานประจำหน่วย 1 คน และกรรมการอีก 8 คน

โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างน้อยอีก 1 คน จึงจะสามารถจัดเป็นหน่วยเลือกตั้งได้อย่างสมบูรณ์ ยกเว้นหากหน่วยเลือกตั้งใดมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิเกิน 800 คน ให้เพิ่ม กปน. อีก 1 คน ต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นมาทุกๆ 100 คน

ซึ่งประธาน กปน. จะต้องเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเป็นบุคคลที่ผ่านการอบรมโดย กกต. เท่านั้น ขณะที่กรรมการอีก 8 คนต้องเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้ง

ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยโดยปกติแล้ว กกต.ประจำเขตมักจะมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ แต่หากไม่เพียงพอให้คัดเลือกจากสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หรือทหารในพื้นที่แทนได้

บทบาทหน้าที่ของ "กปน." มีอะไรบ้าง?

ภารกิจหลักของ กปน. คือ การจัดการออกคะแนนเสียงในพื้นที่เลือกตั้ง การนับคะแนน การรายงานผลคะแนน การดำเนินการกล่าวโทษในกรณีที่พบเห็นการกระทำผิดในหน่วยเลือกตั้ง และช่วยอำนวยความสะดวกในการมาใช้สิทธิของประชาชน ภารกิจทั้งหมดจำเป็นต้องผ่านการฝึกอบรมของทาง กกต.

สำหรับหรับค่าตอบแทนของ กปน. จะได้รับค่าตอบแทนวันอบรม 300 บาทต่อวัน วันรับหีบบัตรและวัสดุอุปกรณ์ 250 บาทต่อวัน และวันเลือกตั้งหรือวันออกเสียงลงคะแนนอีก 500 บาทต่อวัน โดยมีค่ายานพาหนะเพิ่มให้อีกคนละ 200 บาท เฉพาะวันที่ลงคะแนนเสียงเท่านั้น

อย่างไรก็ตามในฐานะประชาชนอย่างเรา สามารถช่วยกันสอดส่องดูแล เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นของ กปน. ซึ่งทุกคนควรร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กปน. และ กกต. ในแต่ละคูหา

ทั้งเฝ้าระวังการไม่ติดเอกสารที่ควรจะติด การแจกบัตรเลือกตั้งที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการขานและนับคะแนนผิด หรือการรวมคะแนนผิดพลาด เพื่อปกป้องทุกสิทธิ และเสียงของคนไทยทุกคน ด้วยประชาชนอย่างเราๆนั่นเอง