นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ตั้งแต่มีการบังคับใช้ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 หรือ “กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2566
หนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลต้องทราบ คือกฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้ผู้ใช้บริการเกิดการเชื่อมต่อเกิดการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ที่เข้าข่ายแพลตฟอร์ม 15 ประเภทตามที่กฎหมายระบุ จะต้องเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจให้ ETDA ทราบ เพื่อยืนยันตัวตนธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ว่าเป็นใคร ให้บริการเกี่ยวกับอะไร และมีที่ตั้งอยู่ที่ไหน รวมไปถึงการมีมาตรการต่างๆ ในการดูเเลเยียวยา หรือช่องทางในการร้องเรียนสำหรับผู้ใช้บริการ เป็นต้น เพื่อสร้างความโปร่งใสในการให้บริการ ให้ผู้ใช้เกิดความมั่นใจ
ซึ่งตั้งแต่เปิดระบบรับเเจ้งข้อมูล จนถึงปัจจจุบัน มีแพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาแจ้งแล้วทั้งสิ้น 1,487 แพลตฟอร์ม (ข้อมูล ณ วันที่ 8 ส.ค.67) และ ETDA ได้ทำการปิดระบบรับแจ้งสำหรับแพลตฟอร์มดิจิทัลประเภททั่วไปและรายใหญ่ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566
ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้จะถือเป็นช่วงเดือนสุดท้าย สำหรับ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็ก ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (กรณีบุคคลธรรมดา) หรือ มีรายได้น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อปี (กรณีนิติบุคคล) หรือ มีผู้ใช้งานไม่เกิน 5,000 คนต่อเดือน รวมถึง แพลตฟอร์มที่มีผลกระทบต่ำ ที่เป็นบริการที่มีไว้เพื่อเสนอสินค้าหรือบริการของเจ้าของธุรกิจรายเดียว หรือเสนอสินค้าหรือบริการของบริษัทในเครือซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของธุรกิจดังกล่าว (e-Service) เช่น บริการเว็บบอร์ด (Web board) เพื่อเป็นช่องทางสอบถาม และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้บริการ บริการแสดงลิงก์ หรือตำแหน่งที่อยู่ของข้อมูล (Hyperlink, Banner) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการในการเข้าถึงเว็บไซต์หรือบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอื่น จะต้องรีบดำเนินการเข้ามาแจ้งข้อมูลการประกอบธุรกิจโดยย่อ กับ ETDA ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นี้เท่านั้น” นายชัยชนะ เน้นย้ำ
สำหรับข้อมูลและหลักฐานที่ แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็กจะต้องยื่นโดยย่อกับ ETDA ประกอบไปด้วย ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ชื่อ-สกุล หรือชื่อนิติบุคคล เลขประจำตัวหรือเลขทะเบียนนิติบุคคล ที่อยู่ ช่องทางติดต่อ รอบระยะเวลาบัญชี ข้อมูลเกี่ยวกับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น ชื่อบริการแพลตฟอร์ม ประเภทการให้บริการ ช่องทางการให้บริการ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ประสานงานในราชอาณาจักร ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจประกอบธุรกิจอยู่นอกราชอาณาจักร เป็นต้น
แพลตฟอร์มดิจิทัลขนาดเล็ก ที่เข้าข่ายต้องแจ้ง สามารถเตรียมข้อมูลและยื่นแจ้งข้อมูลได้ผ่านระบบแจ้งการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลของ ETDA ที่ลิงก์นี้ ภายในวันที่ 20 สิงหาคมนี้
ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งโดยย่อรวมถึงข้อมูลที่ต้องแจ้ง ได้ที่ ประกาศ คธอ. เรื่องลักษณะของการให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่มีหน้าที่แจ้งรายการโดยย่อที่ลิงก์นี้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่อีเมล: [email protected]
ทั้งนี้ ท่านสามารถเช็ครายชื่อแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ดำเนินการแจ้งข้อมูลและยืนยันตัวตนกับ ETDA เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ง่ายๆ ผ่านเว็บไซต์ ของ ETDA