KEY
POINTS
ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย OpenThaiGPT โมเดลปัญญาประดิษฐ์ (AI) ภาษาไทยขนาดใหญ่ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าทีมพัฒนา OpenThaiGPT มีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยล่าสุด OpenThaiGPT เป็น AI Chatbot ภาษาไทย ที่มีขนาดเซลล์สมอง 13 พันล้านเซลล์สมอง หรือ 13 พันล้านพารามิเตอร์ จากเวอร์ชันเดิม 7 พันล้านพารามิเตอร์ พร้อมใส่ฐานข้อมูล Dictionary ภาษาไทยคำที่ใช้บ่อยเข้าไปอีก 10,000 คำ จากเดิม 25,000 คำ
มีการ Pretrain บนข้อความภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีก 15,000 ล้านคำ เพิ่มความเร็วมากกว่าเดิม 10 เท่า สามารถสืบค้นข้อมูล แปลภาษา และสร้างข้อมูลอัตโนมัติภาษาไทย จัดการความซับซ้อนของการแบ่งคำ การใช้วรรณยุกต์ไทย โดยปัจจุบันได้มีนักพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ AI ดาวน์โหลดโค้ดต้นฉบับได้ฟรี ในการนำโค้ดไปพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจไปกว่า 22,000 ครั้ง
ทั้งนี้กำลังจัดทำเอกสารรายงานโครงการวิจัย OpenThaiGPT เพื่อนำงานวิจัยดังกล่าวนำเสนอในงานประชุมระดับโลก ACL 2024 - Association for Computational Linguistics ที่จะจัดขึ้นในไทยในเดือนสิงหาคม 2567 นี้ โดยงานดังกล่าวจะมีนักวิจัย และนักพัฒนา AI ระดับโลกเข้าร่วม 2-3 พันคน เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำเสนอความก้าวหน้าในการพัฒนา AI ของคนไทยออกสู่สายตาชาวโลก โดยการนำเสนอรายงานผลงานดังกล่าวนั้นจะทำการเปรียบเทียบให้เห็นความเร็วการประมวลผล ความแม่นยำ และความสามารถด้านภาษาไทยของ OpenThaiGPT กับ OpenChatGPT กูเกิล และเฟซบุ๊ก
ส่วนโรดแมปการพัฒนา OpenThaiGPT ที่วางไว้ปีนี้นั้น มองว่าหลายมุมด้วยกัน โดยอาจพัฒนาต่อยอดให้ความสามารถเฉพาะด้าน เช่น การเงิน หรือด้านกฎหมาย หรือการพัฒนาต่อยอดให้มีความสามารถภาษาในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งจะทำให้ OpenThaiGPT เป็นผู้นำด้าน AI Chatbot ภาษาภูมิภาค
ส่วนงบประมาณเพื่อดำเนินการต่อยอด OpenThaiGPT นั้นปีที่ผ่านมาได้รับงบสนับสนุนการวิจัยจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนปีนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กำลังพิจารณางบสนับสนุนหลักร้อยล้านบาท เพื่อพัฒนาต่อยอด OpenThaiGPT ให้กับบริการภาครัฐ เพื่อลดการงานด้านเอกสาร ขั้นตอน ลดเวลา เช่น การนำ AI มาประเมินคำร้องขอรับบริการภาครัฐต่างๆ บริการคอลเซ็นเตอร์ภาครัฐ การจัดทำรายงาน หรือ การตรวจสอบเอกสารราชการต่างๆ
ดร.กอบกฤตย์ กล่าวต่อไปอีกว่า AI เป็นเมกะเทรนด์ของโลกที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยสนับสนุนมาจาก AI มีความฉลาดมากขึ้น จากการแข่งขันกันพัฒนาของบิ๊กเทคโลก , ฮาร์ดแวร์มีการพัฒนาความเร็วการประมวลผลเพิ่มขึ้น สถานการณ์การ์ดจอโลกกลับมาดีขึ้นหลังจากประสบปัญหาขาดตลาด ส่วนในไทยคาดปีนี้ว่าจะมีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกับทั่วโลก โดยทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชนมีการนำ AI มาใช้งานมากขึ้น ทั้งการให้บริการคอลล์เซ็นเตอร์ การใช้ AI อบรมพนักงาน ตอบคำถามให้คำปรึกษาพนักงาน
อย่างไรก็ตามยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง เรื่องร่างกฎหมายการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาล หรือ AI ACT ที่จัดประเภทความเสี่ยง AI ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงสูง จะต้องเข้าไปอยู่ในแซนด์บอกซ์ หากหน่วยงานรัฐตรวจสอบแล้วปลอดภัยถึงออกมาให้บริการได้ ขณะที่ต่างประเทศไม่มีกฎหมายมาควบคุม ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อการพัฒนา AI ของประเทศ ที่ปัจจุบันมีความล่าช้าเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่แล้ว