ไทยต้องเร่งพัฒนากำลังคนไต่อันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัล

09 ธ.ค. 2566 | 08:08 น.

ผลการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ล่าสุดโดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2566 ไทยมีอันดับดีขึ้น 5 อันดับมาอยู่ในอันดับที่ 35 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ

โดยความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของไทยปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยที่ใช้ในการจัดอันดับทั้ง 3 ด้าน ประกอบด้วยด้านเทคโนโลยี (Technology) เป็นปัจจัยที่มีอันดับดีที่สุด โดยอยู่ในอันดับที่ 15 ดีขึ้นกว่าปี 2565 ถึง 5 อันดับ ในขณะที่ด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) มีอันดับดีขึ้น 4 และ 7 อันดับ ตามลำดับแต่ยังคงอยู่ในอันดับที่ไม่สูงนัก คือ อันดับที่ 41 และ 42 ตามลำดับ

ในระดับอาเซียนที่ IMD มีการจัดอันดับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้รวม 5 เขตเศรษฐกิจ ความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของอาเซียนรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 3 และมาเลเซียอยู่อันดับที่ 33 โดยมีปัจจัยที่เป็นจุดเด่นได้แก่ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ส่วนอินโดนีเซียมีอันดับดีขึ้นถึง 6 อันดับมาอยู่ที่ 45 และฟิลิปปินส์มีอันดับลดลง 3 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 59

ไทยต้องเร่งพัฒนากำลังคนไต่อันดับความสามารถการแข่งขันดิจิทัล

การขยับอันดับขีดความสามารถการแข่งขันดิจิทัลของไทยขึ้นมาอยู่อันดับที่ 35 ทำให้เข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้คือ อันดับที่ 30 อย่างไรก็ตาม 2 ปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวโดยเฉพาะในยุคที่ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ กำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว คือด้านความรู้ (Knowledge) และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness) ที่อันดับไม่ดีสูง คือ อันดับที่ 41 และ 42 ตามลำดับ

ทั้งนี้ภาครัฐ และเอกชน รวมไปถึงสถาบันการศึกษา ต้องร่วมสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพด้านดิจิทัล และมีมาตรการจูงใจบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยง่ายขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการพัฒนาประเทศให้เป็นเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจด้วย โดยประเด็นสำคัญไทยต้องให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ การก้าวให้ทันเทคโนโลยีด้าน AI

นอกจากนี้ต้องเร่งยกระดับความสามารถด้าน Cyber Security และ Privacy Protection ซึ่งสะท้อนผ่านการจัดอันดับในด้าน Government cyber security capacity ที่อยู่ในอันดับที่ 58 และ Privacy protection by law content ที่อยู่ในอันดับที่ 43

นอกจากนี้ต้องเร่งผลักดันด้าน Internet Retailing และ e-Government ที่เป็นตัวชี้วัดที่ควรให้ความสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประเทศที่มีตัวเลข Internet Retailing ที่สูง เพราะจะมีผลคะแนนเรื่องเหล่านี้ดีตามไปด้วย เพราะการขยับ 1 อันดับ (Ranking) ต้องมีการเพิ่มมูลค่าของ e-Retailing ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการยกระดับในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ในองค์กร

ขณะที่ด้าน e-Government ไทยต้องเร่งพัฒนาการให้บริการภาครัฐ (Service Provision) กับการผนวก การให้บริการด้วย Digital ID ให้มีความปลอดภัยและเข้าถึงได้สะดวก รวมถึงการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยสนับสนุนการให้บริการ ซึ่งต้องคำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity) ที่ IMD ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ส่วนที่ไทยทำได้ดีในด้าน Starting a Business ที่ประเมินจากการเชื่อมโยงข้อมูลนิติบุคคลระหว่างรัฐกับฐานข้อมูลกลางของประเทศ ทำให้เห็นว่าการนำ Digital ID มาผนวกกับการให้บริการทางออนไลน์ได้ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นในด้านข้อมูลส่วนบุคคล ที่ควรเป็นเรื่องพื้นฐานของคนไทยสำหรับการทำธุรกรรมทางออนไลน์

ผลการศึกษาความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลที่สำคัญ พบว่า ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับ 10 ตัวชี้วัด จาก 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1) ด้านความรู้ (Knowledge) ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี (Digital/Technological Skills), การจ้างงานทางวิทยาศาสตร์และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค (Scientific and Technical Employment) 2) ด้านเทคโนโลยี (Technology) ได้แก่ การเริ่มต้นประกอบธุรกิจ (Starting a Business), การพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Development & Application of Tech) 3) ด้านความพร้อมในอนาคต (Future Readiness) ได้แก่ การค้าปลีกทางอินเตอร์เน็ต (Internet Retailing), รัฐบาลดิจิทัล (e-Government), ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnership), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security), ความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของรัฐบาล (Government Cyber Security Capacity), การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวตามกฎหมาย (Privacy Protection by Law Content)