กสทช. ชี้รัฐบาลควรเร่งศึกษาและวางกรอบกำกับดูแลการพัฒนาและใช้ AI 

28 พ.ย. 2566 | 01:42 น.

ผลสำรวจเผยปี 2023 AI พัฒนาก้าวกระโดด พบข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และลิขสิทธิ์ เป็นประเด็นความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงเป็น 3 อันดับแรกของกรใช้ AI

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เวลา 9.30 น. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้ร่วมเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023) ในการเสวนา หัวข้อ AI Governance and Ethics: Asian Countries' Perspectives

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับสมาคม International Telecommunication Society (ITS) จัดการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 16 หรือ The 16th International Telecommunications Society Asia-Pacific Regional Conference (ITS Asia-Pacific 2023) ในวันที่ 26-  28 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทล แอนด์ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ

โดยมีนาย Stephen Schmidt ประธานสมาคม ITS กล่าวต้อนรับ และได้รับเกียรติจาก กสทช. รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย เป็นประธานและกล่าวเปิดงานในพิธีเปิดการประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติฯ โดยมีคณะผู้บริหารจากสมาคม ITS ผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย พร้อมด้วย พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช. ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. พิรงรอง รามสูต กสทช. รศ. สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. รวมทั้งผู้บริหารระดับสูงจากสำนักงาน กสทช. เข้าร่วมงาน
 

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กล่าวว่า ปี 2023 เป็นปีที่ผู้คนตื่นเต้นกับพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกันนั้น ก็เกิดคำถามถึงภยันตรายที่ AI อาจนำมาสู่มวลมนุษยชาติ ในการสำรวจล่าสุดโดย McKinsey & Company "The state of AI in 2023: Generative AI’s breakout year" พบว่า ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และลิขสิทธิ์ เป็นประเด็นความเสี่ยงที่ถูกพูดถึงเป็น 3 อันดับแรกของการใช้ AI โดยการพยายามหลีกเลี่ยงกฎระเบียบต่างๆ เป็นความเสี่ยงในประเด็นถัดมา 

ดังนั้น จึงมีเหตุผลหลายประการที่จะต้องมีการกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับ AI เช่น การที่ AI ที่คนเข้าถึงมากที่สุดเป็น AI ที่คำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมน้อยที่สุด ดังจะเห็นได้จากระบบอัลกอริธึ่ม (algorithm) ของแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์และวีดิโอสตรีมมิ่งจะเลือกนำเสนอเพื่อดึงดูดให้ผู้ชมเสพติดหน้าจอมากกว่าที่จะปิดกั้นการมองเห็นของข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ปัจจุบัน AI ยังเรียนรู้และตัดสินใจได้เองมากขึ้น โดยที่มนุษย์อาจยังไม่เข้าใจวิธีคิดและเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจของ AI เสียด้วยซ้ำ ไม่เพียงเท่านั้น การเข้ามามีบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ AI ยังทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่ระดับบุคคลไปจนถึงระดับประเทศ ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง กล่าว
 

กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาจุดที่สมดุลในการกำกับการพัฒนาและใช้ AI เพราะหากควบคุมมากเกินไปก็อาจจำกัดความเจริญก้าวหน้า แต่หากปล่อยให้มีอิสระมากเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสังคมได้ ทั้งนี้ รัฐบาลต่างๆ จะต้องหากรอบในการระบุลักษณะ ประเมินและตอบสนองต่อ AI ประเภทต่างๆ และความท้าทายที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของประเทศไทยซึ่งยังไม่มีกฎหมายที่กำกับเกี่ยวกับ AI จะต้องวางแนวทางบนพื้นฐานของความเข้าใจเกี่ยวกับความสามารถของ AI ผู้เล่นหลักๆ ในการพัฒนา AI โอกาส และอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

การประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติดังกล่าว เป็นเวทีเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ได้แก่ หน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ผู้กำหนดนโยบาย (Policymaker) ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) นักวิชาการอิสระและภาคการศึกษา (Academic) ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประเด็นความท้าทายทางด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคม ผ่านเวทีการประชุมหลัก (Plenary session) ได้แก่ ประเด็นเรื่อง The Telecom Merger and Acquisition ประเด็นเรื่อง AI Governance and Ethics และประเด็นเรื่อง Climate Action in the Telecom Sector

การประชุม ITS Asia-Pacific 2023 ในครั้งนี้ ได้กำหนดธีมหลักของการประชุม คือ “Reimagining the Future of the Digital Society” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วโลกกว่า 17 ประเทศ จำนวน 150 คน เพื่อร่วมประชุมและแสดงผลงานทางวิชาการ อันประกอบด้วยหัวข้องานวิจัยที่หลากหลาย ได้แก่ Digital Sustainability, Digital space, Mis and dis information, Media industries, Digital Transformation, ICT in Business and society, Digital services, Digital Economy, Algorithm, Data and platform และ ICT, Politics and social issues