บิ๊กเทคโลก ตั้ง 'ภัคพล' นั่งคุมโปรเจ็กต์พิสูจน์ตัวตนดิจิทัล”World”ในไทย

14 พ.ค. 2568 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2568 | 06:48 น.

'Tools for Humanity' ผู้พัฒนาเทคโนโลยีพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลระดับโลกเดินหน้าขยายการดำเนินงานในไทย ประกาศแต่งตั้ง นายภัคพล ตั้งตงฉิน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทย World คนแรกอย่างเป็นทางการ

'Tools For Humanity' บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม 'World' ประกาศแต่งตั้ง นายภัคพล ตั้งตงฉิน ดำรงตำแหน่งผู้จัดการประจำประเทศไทยคนแรกอย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นการวางระบบที่ช่วยให้โลกดิจิทัลปลอดภัยและน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น

บิ๊กเทคโลก ตั้ง \'ภัคพล\' นั่งคุมโปรเจ็กต์พิสูจน์ตัวตนดิจิทัล”World”ในไทย Tools For Humanity ก่อตั้งโดย Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ ChatGPT และ Alex Blania มีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อปกป้องผู้ใช้งานจากภัยคุกคามดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกงออนไลน์ การหลอกลวง หรือการสร้าง Deepfake ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคที่ AI เติบโตอย่างก้าวกระโดด

นายภัคพล ตั้งตงฉิน หรือ 'แม๊กซ์' เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีประวัติการศึกษาและประสบการณ์โดดเด่น สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา มีความเชี่ยวชาญเชิงลึกด้าน AI เทคโนโลยี Blockchain และ Digital Transformation ก่อนร่วมงานกับ World เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง อาทิ Amazon, Bain & Company และ Central Group

บิ๊กเทคโลก ตั้ง \'ภัคพล\' นั่งคุมโปรเจ็กต์พิสูจน์ตัวตนดิจิทัล”World”ในไทย

"ในยุคที่ AI พัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง การเน้นให้มนุษย์เป็นศูนย์กลางถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่เคย โดย World กำลังสร้างเทคโนโลยีเพื่อปกป้องตัวตนของมนุษย์ ให้เรามั่นใจได้ว่าการโต้ตอบต่างๆในโลกดิจิทัลมีความปลอดภัย เชื่อถือได้ และเปิดกว้างสำหรับทุกคน ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการนำ World มายังประเทศของเรา" นายภัคพล กล่าว

ด้วยบทบาทของผู้จัดการประจำประเทศไทย นายภัคพลจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีหลักของ World เข้ามาเปิดตัวและใช้งานในประเทศไทย โดยเทคโนโลยีดังกล่าวประกอบด้วย 4 ระบบหลัก ได้แก่

บิ๊กเทคโลก ตั้ง \'ภัคพล\' นั่งคุมโปรเจ็กต์พิสูจน์ตัวตนดิจิทัล”World”ในไทย

Orb - อุปกรณ์กล้องอัจฉริยะที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการยืนยันว่าผู้ใช้งานเป็น "มนุษย์จริง" ไม่ใช่บอทหรือโปรแกรมอัตโนมัติ ผ่านการสแกนม่านตาด้วยเทคโนโลยีที่ปลอดภัยและรักษาความเป็นส่วนตัว

World ID - ระบบยืนยันตัวตนดิจิทัลที่ปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ช่วยให้สามารถพิสูจน์ตัวตนว่าเป็นมนุษย์แท้จริงในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ โดยไม่ต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่มากเกินความจำเป็น

World App - แอปพลิเคชันมือถือที่ให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึง World Network และ Mini Apps ต่างๆ ได้อย่างสะดวก เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงระบบนิเวศทั้งหมดของ World

World Chain - เทคโนโลยีบล็อกเชนที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานของมนุษย์โดยเฉพาะ สร้างความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือในการยืนยันตัวตนและการทำธุรกรรมดิจิทัล

เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้คนสามารถพิสูจน์ตัวตนว่า "มีอยู่จริงและไม่ซ้ำใคร" ในโลกดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วย AI มากขึ้นทุกวัน ซึ่งนับเป็นความท้าทายสำคัญในยุคที่เทคโนโลยี AI สามารถสร้างเนื้อหาและตัวตนปลอมได้อย่างแนบเนียน

นอกจากนี้ World ยังได้ประกาศความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรสำคัญ 2 รายในประเทศไทย ได้แก่ ศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัลและการเงินของประเทศไทย (Thailand Digital and Finance Business Center - TIDC) และ บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MVP เพื่อร่วมผสานนวัตกรรมระดับโลกเข้ากับความแข็งแกร่งของเครือข่ายและผู้เชี่ยวชาญในประเทศ

ความร่วมมือนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นระยะยาวของ World ในการขับเคลื่อน AI อย่างมีความรับผิดชอบ และส่งเสริมความเชื่อมั่นบนโลกดิจิทัลของประเทศไทย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่การโจมตีทางไซเบอร์และการหลอกลวงดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมองว่า การเข้ามาของ World ในประเทศไทยถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศ และช่วยเสริมความพร้อมในการรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ในยุค AI ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

ด้วยความร่วมมือที่แข็งแกร่งและเชื่อถือได้ World กำลังเร่งขยายการดำเนินงานทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยวางให้ประเทศไทยเป็นต้นแบบของภูมิภาคในด้านการพิสูจน์ตัวตนดิจิทัลและการใช้นวัตกรรมที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางในยุค AI อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ คาดว่าการเปิดตัวเทคโนโลยี World อย่างเป็นทางการในประเทศไทยจะมีขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ โดยจะเริ่มจากการนำร่องใช้งานกับพันธมิตรทางธุรกิจและองค์กรชั้นนำก่อนขยายสู่ภาคประชาชนทั่วไป ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของระบบดิจิทัลในประเทศไทย