โดย JAS เริ่มต้นจากคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ และ เอฟเอคัพ ด้วยมูลค่ามหาศาล 1.9 หมื่นล้านบาท สำหรับระยะเวลา 6 ปี เริ่มตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26 เป็นต้นไป นี่คือการดึงคอนเทนต์ระดับเรือธงที่ทรูวิชั่นส์ถือครองมากว่า 6 ปี ไปอยู่ในมือคู่แข่งได้อย่างน่าจับตา
ล่าสุดทรูวิชั่นส์ ต้องสูญเสีย “เรือธงลำที่สอง” อย่างฟุตบอลไทยลีกให้กับคู่ปรับเก่า JAS และ AIS ที่คราวนี้ได้แรงหนุนจากกลุ่ม GULF เข้ามาเพิ่มอีกแรง ด้วยการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีกทุกระดับ รวมถึงฟุตบอลถ้วยภายในประเทศ เช่น ช้าง เอฟเอ คัพ, รีโว่ คัพ, ลีกยู-21 และ Women’s League 1-2 ด้วยมูลค่าสัญญา 2,000 ล้านบาท ครอบคลุม 4 ฤดูกาล ตั้งแต่ฤดูกาล 2025-26 ถึง 2028-29 เฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท
โดยแบ่งเป็นค่าลิขสิทธิ์ 350 ล้านบาท และค่าดำเนินการถ่ายทอดสด 150 ล้านบาท ดีลนี้ยังมาพร้อมสิทธิในการต่อสัญญาอีก 2 ฤดูกาล ซึ่งหมายความว่าถือสิทธิ์ 2 คอนเทนต์ฟุตบอลระดับแม่เหล็กอย่างพรีเมียร์ลีกและไทยลีก ยาวนานถึง 6 ปีเต็ม นี่คือการเปลี่ยนมือครั้งสำคัญของลิขสิทธิ์ฟุตบอลในไทย
โดยจากสถิติในปี 2566 ภาพรวมกีฬาฟุตบอลไทยลีกติดอันดับ 6 ของรายการกีฬาที่ได้รับชมมากสุดในไทย จำนวนผู้ชมรวมทั้งปีทะลุถึง 19.3 ล้านคน เมื่อเปรียบเทียบกับกีฬาอื่น ONE Championship มี 33.6 ล้านคน และ Asian Games 29.4 ล้านคน
เช่นเดียวกับ AIS ที่ให้บริการผ่านแพลตฟอร์ม AIS Play ถือเป็นไม้ตายที่สามารถเร่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ไม่เพียงดึงดูดลูกค้าใหม่ แต่ยังเปิดประตูให้ผู้บริโภค “ย้ายค่ายเบอร์เดิม” เข้าสู่ระบบนิเวศของ AIS ได้มากขึ้น โดยข้อมูล ณ. เดือนมิถุนายน 2568 AIS มีผู้ใช้บริการมือถือ (Mobile Subscribers) ประมาณ 46.3 ล้านราย ผู้ใช้บริการ 5G ประมาณ 11.5 ล้านราย หรือคิดเป็น 26% ของฐานลูกค้า ขณะที่ผู้ใช้บริการ AIS Fibre (AIS 3BB Fibre3) มีจำนวนประมาณ 5.1 ล้านราย ณ เดือนมีนาคม 2568 โดย AIS วางเป้าหมายปีนี้จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการเป็น 5.3 ล้านราย
โดย AIS Play จะเคยถ่ายทอดคอนเทนต์กีฬาใหญ่หลายรายการ เช่น โอลิมปิก, เอเชียนเกมส์, ฟุตบอลเจลีก หรือฟุตบอลทีมชาติไทย การได้ “พรีเมียร์ลีก อังกฤษ” เข้ามาอยู่ในตะกร้าแบบเต็มฤดูกาล ย่อมเปลี่ยนสมการทั้งหมดไป นอกจากนี้ ยังมีแพ็กเกจ BeIN Sports ที่ครอบคลุมยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก, ยูโรป้า ลีก, ลาลีกา และบุนเดสลีกา รวมไปถึงไทยลีก เข้ามามัดใจคอกีฬาเพิ่มเติม
หากโมเดลนี้ประสบความสำเร็จ ก็มีแนวโน้มว่าทั้ง JAS และ AIS อาจขยายการลงทุนไปสู่คอนเทนต์กีฬาประเภทอื่นอย่างต่อเนื่อง ด้วยเม็ดเงินจากผู้บริโภคที่พร้อมจ่ายเพื่อเข้าถึงคอนเทนต์ที่ใช่
ศึกแย่งชิงบัลลังก์ครั้งนี้ จึงไม่ได้เป็นแค่การเปลี่ยนมือของลิขสิทธิ์กีฬา หากแต่เป็นการเปิดศักราชใหม่ของสมรภูมิคอนเทนต์ในไทย และเมื่อฤดูกาลใหม่เริ่มต้น คงต้องยอมรับว่า “King of Sports” ได้เปลี่ยนมือไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดย ดร.โสรัชย์ อัศวะประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS กล่าวยอมรับกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าการได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ 6 ฤดูกาล และไทยลีก 4 ฤดูกาล พร้อมสิทธิในการต่อสัญญาอีก 2 ฤดูกาล นั้นเป็นการเขย่าบัลลังก์ “King of Sports” ของผู้ให้บริการรายเดิม
โดย JAS ยังคงเดินหน้าลงทุนซื้อลิขสิทธิ์กีฬาเข้ามาเติมเต็มความบันเทิงของผู้ใช้บริการ โดยจะเห็นได้ว่าทาง BeIN Sports ยังมีกีฬาที่ถืออยู่อีกเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ยังมองว่าการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไทยลีก 4 ฤดูกาล พร้อมสิทธิในการต่อสัญญาอีก 2 ฤดูกาล นั้นพยายามให้สอดคล้องกับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก และเอฟเอคัพ 6 ฤดูกาล โดยถ่ายทอดสดไทยลีก ซึ่งเปิดให้รับชมฟรี ผ่าน MONO MAX และ AIS PLAY จะเป็นตัวช่วยให้ผู้ที่ติดตามฟุตบอลพรีเมียร์ลีกผ่านช่องทางผิดกฎหมาย มาใช้บริการรับชมผ่านช่องทางที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง
ดร.โสรัชย์ กล่าวต่อไปว่าบริษัทยังตั้งเป้าสมาชิกไว้ 3 ล้านราย โดยถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก และผู้ให้บริการเดิมออกมาระบุว่ามีผู้สมาชิกผู้รับชมพรีเมียร์ลีก 1.6 ล้านคน แต่เชื่อว่าด้วยราคาเดือนละที่ไม่ถึง 400 บาท และยังมีกิจกรรมการตลาด ทั้งทายผล ลุ้นโชค ที่ช่องทางผิดกฎหมายไม่มี จะทำให้สามารถขยายสมาชิกผู้ใช้บริการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้