IBM ชี้เทรนด์รักษ์โลก พลิกองค์กรธุรกิจยั่งยืน

11 มิ.ย. 2565 | 23:00 น.

ไอบีเอ็ม แนะองค์กรมองความยั่งยืนสร้างโอกาสธุรกิจ ขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ระบุผลสำรวจผู้บริโภคคนรุ่นใหม่ 62% ซื้อสินค้า ลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และครึ่งหนึ่งเต็มใจจ่ายเพิ่มแลกความยั่งยืน พร้อมนำเสนอโซลูชันช่วยองค์กรบรรลุเป้าหมาย Net Zero

นายสวัสดิ์ อัศดารณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ Managing Partner กลุ่มธุรกิจไอบีเอ็ม คอนซัลติ้ง เปิดเผยว่าวันนี้องค์กรไม่ควรมองเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นสิ่งที่มีก็ดี หรือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพราะมีกฎข้อบังคับกำหนดไว้ แต่องค์กรควรมองเรื่องการสร้างความยั่งยืนเป็นโอกาสทางธุรกิจ เป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร และช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ก้าวย่างดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน

IBM ชี้เทรนด์รักษ์โลก พลิกองค์กรธุรกิจยั่งยืน

ผลการศึกษาเผยให้เห็นแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคในการให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยนับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคและความชอบที่มีต่อแบรนด์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เลือกผลิตภัณฑ์หรือแบรนด์โดยพิจารณาจากการให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน ดังเห็นได้จาก 62% ของผู้บริโภคที่สำรวจ ระบุว่าเต็มใจที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อของตนเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และครึ่งหนึ่งเต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับความยั่งยืน

ไอบีเอ็มได้เริ่มจัดทำรายงานสิ่งแวดล้อมเป็นครั้งแรกเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และได้เริ่มตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นครั้งแรกในปี 2543 ก่อนที่จะเป็นผู้ร่วมผลักดันเรื่องดังกล่าวในระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ในปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มยังได้ประกาศตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2573 ผ่านการดำเนินการในหลายมิติ

 

อาทิ การตั้งเป้าให้คลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ของไอบีเอ็มใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นสัดส่วน 75% ในปี 2568 และ 90% ในปี 2573 หรือการกำหนดให้ซัพพลายเออร์หลักของไอบีเอ็มต้องมีระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไอบีเอ็มได้รับพระราชทานตรา Terra Carta จากเจ้าชายแห่งเวลส์ ซึ่งถือเป็นการตอกย้ำการให้ความสำคัญและความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนอย่างจริงจังและต่อเนื่องของไอบีเอ็ม

 

ผลสำรวจ Global CEO Study โดยสถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ประจำปี 2565 ระบุว่า เป็นครั้งแรกที่ซีอีโอทั่วโลกมองประเด็นความยั่งยืนเป็นความท้าทายสูงสุด โดยซีอีโอกว่าครึ่งมองว่าความยั่งยืนจะเป็นเรื่องที่องค์กรให้ความสำคัญสูงสุดในอีกสองปีข้างหน้า

ในประเทศไทย ประเด็นด้านความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่องค์กรยังต้องการเครื่องมือที่จะเข้ามช่วยในแง่การจัดทำรายงาน เพราะในการจัดทำรายงานเกี่ยวกับโครงการด้านความยั่งยืนนั้น องค์กรจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก อาทิ ข้อมูลความเสี่ยงด้านสภาพอากาศ ข้อมูลคาร์บอนฟุตปรินท์ ข้อมูลการบริหารจัดการอาคาร ข้อมูลเมทริกซ์การผลิต ข้อมูลการขนส่งและการใช้พลังงาน ข้อมูลการใช้น้ำ/ไฟ ตลอดจนข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งทางตรง ทางอ้อม และตลอดเส้นทางซัพพลายเชน เป็นต้น และด้วยปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีอย่าง AI เข้ามาช่วย

 

ไอบีเอ็มตระหนักถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา จึงลงทุนเข้าซื้อกิจการซอฟต์แวร์ Envizi เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้องค์กรสามารถวิเคราะห์ บริหารจัดการ และรายงานเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ พร้อมวิเคราะห์โอกาสและประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนได้ ตามแนวทางที่มาตรฐานและกฎข้อบังคับต่างๆ กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็ให้มุมมองด้านความยั่งยืนที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ธุรกิจสามารถนำไปปรับเสริมเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรได้

 

ขณะที่ นางสาวภาวศุทธิ ศรีวิโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซอฟต์แวร์ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าองค์กรในไทยตื่นตัว เรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) การลดการปล่อยคาร์บอน การบริหารพนักงาน การลดต้นทุน และความโปร่งใส โดยปีนี้และปีหน้า จะเห็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ทุกบริษัท มุ่งไปสู่ ESG

 

อย่างไรก็ตามองค์กรต้องมีการวางเป้าหมายให้ชัดเจน ความท้าทายที่องค์กรเผชิญ ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก  คือ 1.การบริหารจัดการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งพนักงาน ชุมชน พาร์ทเนอร์ ซัพพลายเออร์ ทุกคนต้องมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน  2. หลังจากวางเป้าหมาย จะมีการติดตาม (Track) อย่างไร ช่องว่าง (Gab) คืออะไร และสุดท้ายคือดาต้า มีการนำ IoT เข้ามาช่วยจัดการ เช่น เส้นทางเดินรถ ซึ่งจะต้องมีการจัดการข้อมูลที่ดี มีซอฟต์แวร์เข้ามาช่วย

 

โดยไอบีเอ็มมีเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาช่วยในการจัดการดาต้า ทั้งที่มีโครงสร้างและไม่มีโครงสร้าง สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลง และมีการจัดทำรายงานที่เป็นมาตรฐาน มีเครื่องมือเข้ามาช่วยในการเชื่อมต่อ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เข้ามาอยู่ในระบบเดียวกัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน