มช.สุดล้ำ พัฒนาหลักสูตรเรียนภาษาจีนผ่าน Metaverse

23 ก.พ. 2565 | 11:46 น.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบการเรียนหลักสูตรภาษาจีน YCT และ HSK ผ่าน Metaverse อย่างเต็มรูปแบบ สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนภาษาแก่ผู้เรียน

 “โลกไร้พรมแดน” คงเป็นคำที่ใครๆ คุ้นชิน เมื่ออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของมนุษย์มากขึ้น โดยเฉพาะ “โลกเสมือนจริง” หรือ “Metaverse” ที่เริ่มเข้ามาทำให้เราสามารถผสานกิจกรรมทั้งโลกเสมือนกับโลกจริงได้อย่างไร้รอยต่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เล็งเห็นโอกาสที่จะพัฒนาการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ผ่านโลก Metaverse จึงเกิดโครงการ Meta YCT Lab

มช.สุดล้ำ พัฒนาหลักสูตรเรียนภาษาจีนผ่าน Metaverse

โดยสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบการเรียนหลักสูตรภาษาจีน YCT และ HSK ผ่าน Metaverse อย่างเต็มรูปแบบ สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนภาษาแก่ผู้เรียนให้มีความน่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะเปลี่ยนการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตธรรมดาให้เสมือนมีผู้สอนมาอยู่ตรงหน้า ผู้เรียนจะได้ปฏิสัมพันธ์กันราวกับอยู่ในห้องเรียนจริง โดยความร่วมมือครั้งนี้ประกอบด้วย สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล และ สถาบันภาษาและวัฒนธรรม AILC Education

โครงการ Meta YCT Lab มีจุดประสงค์หลักเพื่อหวังที่จะเห็นเด็กไทยมีความสามารถทางภาษาจีนที่อยู่ในระดับนานาชาติและนำไปใช้ต่อยอดทางการศึกษา หรือสอบชิงทุนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจนถึงปริญญาตรีในประเทศจีน และสามารถนำมาพัฒนาตนเองทางด้านภาษาได้ โดยกิจกรรมก่อนหน้านี้ได้มีพิธีเปิดโครงการ Meta YCT Lab มีผู้ร่วมสนใจเป็นนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 30 ท่าน เข้าฟังคำแนะนำ พร้อมทั้งเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนในห้องเรียน Meta YCT Lab โดยทีมงานจากวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คอยดูแลเกี่ยวกับอุปกรณ์ Tablet และ Virtual Reality (VR) พร้อมแนะนำวิธีการใช้งานให้กับนักเรียนและผู้ปกครองอย่างใกล้ชิด

มช.สุดล้ำ พัฒนาหลักสูตรเรียนภาษาจีนผ่าน Metaverse

การสอบ YCT และ HSK เป็นการสอบวัดระดับภาษาจีน สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลักตั้งแต่กำเนิด ข้อสอบมีความมาตรฐานใช้วัดความสามารถในการใช้ภาษาจีนของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับในรับดับสากล สามารถใช้ยื่นสมัครงานหรือเรียนในต่างประเทศได้ อีกทั้ง การเรียนการสอนโดยใช้เทคโนโลยีโลกเสมือน Metaverse เข้ามาเป็นตัวช่วยในการเรียนการสอน ผสมผสานโลกความจริงและโลกเสมือน ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติ และใช้ภาษาจริงผ่านอุปกรณ์ Virtual Reality (VR) สามารถทำความเข้าใจในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี จึงช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ทางภาษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แม้ว่าจะอยู่ห่างไกลจากห้องเรียนจริงก็ตาม

การผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการเรียนการสอน เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมรับกับรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลายในยุคดิจิทัล เพื่อให้นักศึกษารวมถึงเยาวชนได้พัฒนาตนเองให้ก้าวทันกับเทคโนโลยี นวัตกรรม ในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพิ่มความสามารถและเสริมศักยภาพให้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น