เดินหน้าเชื่อมโยงการทำงานศูนย์ข่าวปลอมทุกกระทรวงฯ

17 มิ.ย. 2564 | 08:25 น.

รมว.ดีอีเอส ขานรับข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมวางแนวทาง และกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวง ที่เชื่อมโยงกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย เปิดชื่อ 10 หน่วยงานที่ให้ความร่วมมือมากสุดในกระบวนการตรวจสอบยืนยันข้อเท็จจริง

วันนี้ (17 มิ.ย. 64) นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานการประชุมกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวง ที่เชื่อมโยงกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย โดยในที่ประชุมได้มีการนำเสนอผลการประสานงานของศูนย์ฯ กับหน่วยงานอื่นๆ ตั้งแต่จัดตั้งเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62 – 14 มิ.ย. 64 โดยมีหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือมากที่สุดในการตอบกลับอย่างรวดเร็ว 10 ลำดับแรก ดังต่อไปนี้

เดินหน้าเชื่อมโยงการทำงานศูนย์ข่าวปลอมทุกกระทรวงฯ

1.กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  ระยะเวลาในการตอบกลับโดยเฉลี่ย 22 นาที การตอบกลับ 100% 2.กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครองส่วนท้องถิ่น 24 นาที การตอบกลับ 100% 3.สำนักงานประชาสัมพันธ์ กทม. 31 นาที การตอบกลับ 100% 4.กระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน 35 นาที การตอบกลับ 93% 5.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กรมกิจการผู้สูงอายุ 50 นาที การตอบกลับ 100%

6.กระทรวงการคลัง กรมศุลกากร 56 นาที การตอบกลับ 100% 7.กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 59 นาที การตอบกลับ 100% 8.กระทรวงการคลัง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 59 นาที การตอบกลับ 100% 9.กระทรวงการต่างประเทศ กองประมวลและวิเคราะห์ข่าว 1 ชั่วโมง 26 นาที การตอบกลับ 88% และ 10.กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี 1 ชั่วโมง 58 นาที การตอบกลับ 98%

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ เพื่อตอบสนองข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างรวดเร็ว กรณีปัญหาข่าวปลอม/บิดเบือน (เฟคนิวส์) ในสื่อต่างๆ รวมทั้งเพื่อรับทราบผลการประสานงานร่วมกับหน่วยงานผู้ประสานงานศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ของหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานร่วมกันมานับตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 62

สำหรับขั้นตอนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงาน และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม เมื่อได้รับเบาะแสข้อความข่าวปลอมทั้งจากที่ประชาชนแจ้งมาและการตรวจจับของระบบ Social Listening หลังจากคัดกรองและพบข้อความที่เข้าเกณฑ์ตรวจสอบ ทางศูนย์ฯ จะแจ้งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจหาข้อเท็จจริง โดยมีข้อตกลงในการให้บริการ (SLA) ให้หน่วยงานนั้นๆ แจ้งผลตอบกลับมายังศูนย์ฯ ภายใน 48 ชั่วโมง จากนั้นศูนย์ฯ ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและพิจารณาการเผยแพร่ เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งสื่อ (Media)  และช่องทางต่างๆ ของศูนย์ฯ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์

ทั้งนี้ จากนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ทุกกระทรวงมีการจัดตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวง เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร และข้อเท็จจริงให้ประชาชนรับทราบอย่างถูกต้องและรวดเร็ว ลดความตื่นตระหนกของประชาชนที่ได้รับข้อมูลข่าวปลอม/บิดเบือน

ดังนั้นการประชุมร่วมกันของทุกหน่วยงานครั้งนี้ จะร่วมการพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนกระบวนการทำงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประจำกระทรวงที่ เชื่อมโยงกับศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย เพื่อให้กระบวนการประสานงานตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของเรื่องในทั้ง 4 หมวดหมู่ ได้แก่ กลุ่มข่าวภัยพิบัติ กลุ่มข่าวเศรษฐกิจ กลุ่มข่าวผลิตภันฑ์และสุขภาพ และกลุ่มข่าวนโยบายรัฐและความสงบเรียบร้อยภายใน ได้รับความร่วมมือในการตรวจสอบและแจ้งผลตอบกลับ เป็นไปอย่างรวดเร็ว

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานตรวจสอบของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 ถึง – 14 มิถุนายน 2563 มีจำนวนข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 140,469,974 ข้อความ เป็นข้อความที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 31,459 ข้อความ ในจำนวนนี้เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 11,268 เรื่อง โดยพบว่าหมวดหมู่สุขภาพ มีจำนวนข่าวที่เข้าข่ายการตรวจสอบมากที่สุด 54% จำนวน 6,031 เรื่อง ตามมาด้วย 42% เป็นหมวดหมู่นโยบายรัฐ  4,732 เรื่อง อีก 3% เป็นหมวดหมู่เศรษฐกิจ 304 เรื่อง และ 1% อยู่ในหมวดหมู่ภัยพิบัติ จำนวน 184 เรื่อง

ขณะที่ ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ กระทรวงฯ ได้ดำเนินการจัดการข่าวปลอมที่เกี่ยวกับกระแสโควิด ตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 63 – 14 มิ.ย. 64 โดยข่าวปลอมอันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ พบจำนวน 2,442 เรื่อง คิดเป็น 66% หมวดหมู่นโยบายรัฐ 1,112 เรื่อง คิดเป็น 30% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็น 4% ส่วนของหมวดหมู่ภัยพิบัติไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย

ทั้งนี้ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้จัดทำช่องทางต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ข่าวสารที่ได้รับการตรวจสอบแล้วทั้งช่องทางบัญชีไลน์ทางการ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเว็บไซต์ ปัจจุบันช่องทางสื่อสารของเราเข้าถึงประชาชนมากกว่า 18 ล้านคน และมียอดการเข้ามามีส่วนร่วมกับโพสต์ (Engagement) มากกว่า 1.2 ล้านครั้ง