ดีอีเอสสั่งเร่งขึ้นทะเบียน กำกับแพลตฟอร์มข้ามชาติ

21 เม.ย. 2564 | 03:29 น.

รมว.ดีอีเอส โชว์ฟิต สั่ง”เอ็ตด้า” ออกกฎระเบียบตีทะเบียนยักษ์แพลตฟอร์มโซเชียล- อีคอมเมิร์ซข้ามชาติ หวั่นครอบงำบริการดิจิทัลไทย ด้าน ผอ.เอ็ตด้า เผยอยู่ระหว่างศึกษา คืบหน้าแล้ว 80% ก่อนยกร่างออกเป็น พรฎ.กำกับดูแล

 

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริการดิจิทัลของไทยถูกครอบงำโดยต่างชาติ ทั้งโซเชียลมีเดีย หรือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งตนได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์(สพธอ.) หรือ เอ๊ตด้า ที่มีคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้ พรบ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ไปเร่งดำเนินการหาวิธีในการให้แพลตฟอร์มต่างชาติ เข้ามาจดทะเบียน เพื่อกำกับดูแลและสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมให้กับผู้ให้บริการดิจิทัลของไทย รวมถึงเป็นเรื่องของความมั่นคงและเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่ผ่านมา เราเปิดกว้างให้เข้ามาบริการ ซึ่งคนไทยก็เปิดรับเทคโนโลยีรวดเร็ว โดยวันนี้เราใช้งานอินเตอร์เน็ตวันละ 11 ชั่วโมง 35 นาที เข้าถึงการใช้ชีวิตดิจิทัลเต็มรูปแบบ แต่จุดอ่อนคือ แพลตฟอร์มที่ให้บริการทั้งหมดเป็นของต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงว่าบริการดิจิทัลจะถูกครอบงำโดยต่างชาติทั้งหมด ซึ่งการให้บริการในไทยจะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย หากไม่มีการกำกับดูแลจะกระทบกับความมั่นคงเศรษฐกิจดิจิทัล และการแข่งขันที่เป็นธรรมกับธุรกิจของไทย

“วันนี้ทราบมาว่า บริการบุ๊กกิ้งจากต่างประเทศ มีการเรียกเก็บค่าฟรีจากโรงแรม 20% ซึ่งได้กำไรมากกว่าผู้ประกอบการโรงแรมเสียอีก”นายชัยวุฒิกล่าว

ด้านนายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ เอ็ตด้า ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า เอ็ตด้า กำลังศึกษากฎหมายเพื่อดูแลแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งหมด ทั้งแพลตฟอร์มไทย และต่างประเทศ ที่เปิดให้บริการกับคนไทย โดยกำลังศึกษาประเภทของแพลตฟอร์มที่มาแจ้งจดทะเบียน ซึ่งมีทั้งบริการอีมาเก็ตเพลส บริการสตรีมมิ่ง และบริการโซเชียลมีเดีย

ภายใต้ พ.ร.บ.ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลธุรกิจที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถดำเนินการได้ 3 ระดับ คือ 1.ก่อนทำธุรกิจแจ้งเปิดให้บริการ  2.ก่อนทำธุรกิจจะต้องดำเนินการขึ้นทะเบียน และ 3.ก่อนทำธุรกิจจะต้องขออนุญาต ซึ่งเอ็ตดา จะต้องศึกษาออกกฎระเบียบ หลักเกณฑ์การกำกับดูแล และยกร่างเป็น พระราชกฤษฎีกา ก่อนเสนอไปยังคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณา ถ้าเห็นชอบก็เสนอไปยังคณะรัฐมนตรีและกฤษฎีกา ลงความเห็นตามกระบวนการออก กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ศึกษาไปแล้วกว่า 80%ในเรื่องของกลไลการดูแล

แหล่งข่าวจากวงการดิจิทัลกล่าวว่า การจดทะเบียนผู้ให้บริการดิจิทัลต่างประเทศที่เปิดให้บริการในไทย เพื่อการกำกับดูแลถือเป็นเรื่องดี โดยที่ผ่านมา เราเสียดุลการค้าให้กับบริการแพลตฟอร์มต่างประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท จริงอยู่แม้แพลตฟอร์มข้ามชาติจะมีประโยชน์หลายด้าน แต่บางรายไม่ได้จดทะเบียนในไทย ไม่เสียภาษี ทั้งที่มีฐานผู้ใช้บริการมี
เงินทุน และทรัพยากรมากกว่าผู้ให้บริการไทย สร้างความไม่เป็นธรรมกับผู้ให้บริการไทย

ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยาภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ในฐานะกูรูด้านวงการดิจิทัลกล่าวว่า เห็นด้วยกับการให้ผู้บริการดิจิทัลเข้ามาจดทะเบียนกับภาครัฐ เพราะจะได้มีฐานข้อมูล ติดต่อประสานงานหากเกิดปัญหาขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่า อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะรายย่อยๆ ที่เปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมากนั้นรัฐ จะมีวิธีการหรือจูงใจให้เข้ามาจดทะเบียนอย่างไร

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564