กลุ่มเบญจจินดาทุ่มตั้ง100เสาอัจฉริยะยึดเมือง”สมาร์ทซิตี้”

24 ส.ค. 2563 | 04:54 น.

กลุ่มเบญจจินดา ปูพรมวางโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมไทย ตั้งเป้าวางเสาอัจฉริยะ 100 เสา ทั่วประเทศ ให้บริการฟรีไวไฟ พร้อมแพลตฟอร์มบริหารจัดการเมือง ล่าสุดเซ็น 13 เทศบาลย่านอัจฉริยะ ชูแนวคิดอินฟราสตรักเจอร์แชริ่ง เปิดโอปอเรเตอร์ตั้งสถานีบริการ 5G ลดลงทุนซํ้าซ้อน

นายพิรชัย เบญจรงคกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (UTE) กลุ่มบริษัทเบญจจินดา เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทเบญจจินดา เป็นเอกชนรายแรกที่สร้างโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมในไทยเมื่อปี 2503 หรือประมาณ 60 ปีที่แล้ว และต้องการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ และมีแนวคิดเรื่องอินฟราสตรักเจอร์แชร์ริ่ง เพื่อลดการลงทุนซํ้าซ้อน จึงได้พัฒนานวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานสื่อสารโทรคมนาคม เสาอัจฉริยะ (Smart Pole) ขึ้นมา เพื่อติดตั้งตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เบื้องต้นตั้งเป้าวางเสาอัจฉริยะ ตาม ย่านเศรษฐกิจต่างๆ ไว้ 100 เสาทั่วประเทศ โดยเสาอัจฉริยะมีมูลค่าการลงทุนต้นละ 5 ล้านบาท

กลุ่มเบญจจินดาทุ่มตั้ง100เสาอัจฉริยะยึดเมือง”สมาร์ทซิตี้”

โดยเสาอัจฉริยะถูกออก แบบให้ทันสมัย เปิดให้บริการฟรีไวไฟ และเปิดให้เมือง สามารถติดตั้งกล้องวงจรปิด เซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่น จอดิสเพลย์แจ้งข่าวสารประชาชน โดยบริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์ม บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ ภายใต้ชื่อ MAXITASK” เพื่อส่งเสริมเมืองน่าอยู่ ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยเสาอัจฉริยะจะช่วยยกระดับการจัดเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งการบริหารจัดการในระดับเมือง ซึ่งเสาอัจฉริยะจะทำหน้าที่รับส่งข้อมูลอุปกรณ์ระหว่างตัวเสาไปยังแพลตฟอร์มส่วนกลางของเทศบาล สามารถแสดงผล ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน รวมถึงความสามารถอัจฉริยะในการป้องกันภัยและเตรียมความพร้อมรับมือต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มเบญจจินดา รุกสมาร์ทซิตี้ระยอง

กลุ่มเบญจจินดาผนึก หนองปรือ เดินหน้า Smart City

ดึง13 เมืองร่วมต้นแบบเมืองอัจฉริยะ

นอกจากนี้ยังเปิดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ที่กำลังขยายโครงข่าย 5G มาเช่าใช้เสาเพื่อติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดให้สตาร์ทอัพ ที่มีนวัตกรรมหรือแอพพลิเคชัน ด้านบริการสุขภาพ หรือ การท่องเที่ยว เข้ามาเช่าใช้บริการด้วย

กลุ่มเบญจจินดาทุ่มตั้ง100เสาอัจฉริยะยึดเมือง”สมาร์ทซิตี้”

ล่าสุดเสาอัจฉริยะของบริษัท เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสร้างพื้นฐานด้านกายภาพดิจิทัลและแพลตฟอร์มการบริหารจัดการย่านอัจฉริยะ ตามกรอบกฎบัตรสมาร์ท ซิตี้ ชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นความร่วมมือของความร่วมมือของสมาคมการผังเมืองไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (UTE) พร้อมด้วย 13 เทศบาล

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร กรรมการและเลขานุการกฎบัตรแห่งชาติ กล่าวว่าการพัฒนาย่านอัจฉริยะให้เป็นพื้นที่ต้นแบบของสมาร์ทซิตี้นั้นกฎบัตรเมืองอัจฉริยะคาดหวังในการใช้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการปรับปรุงระบบกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสาธารณูปโภคของเทศบาลเพื่อตอบสนองต่อการเพิ่มขึ้นของกิจกรรมทางกาย (Physical Activity) อันเป็นต้นทางของการสร้างเมืองสุขภาพ (Healthy City) และเมืองเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน (Sustainable City) โดยข้อตกลงร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรประชาชน จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล รวมทั้งการฟื้นฟูชุมชนให้มีศักยภาพในการรองรับความเปลี่ยนแปลง นำไปสู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืน

 “ย่านอัจฉริยะ จะใช้พื้นที่ถนนย่านเศรษฐกิจของเมือง ระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือ 0.25 ตารางกิโลเมตร ปรับทางเท้า เพิ่มต้นไม้ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเพิ่มกิจกรรมในอาคารว่าง เทศบาลเมืองยังต้องรอเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในการดึงเสาไฟฟ้าลงดิน โดยสำนักงานกฎบัตรฯ จะเป็นผู้ออกแบบให้ ส่วนการลงทุนเป็นงบประมาณของเมือง โดยออกแบบให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และให้ประชาชนเห็นประโยชน์ก่อนขยายไปสู่เมืองอัจฉิรยะ หรือสมาร์ทซิตี้

 “กฎบัตรแห่งชาติ คาดว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบจะปรับเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าเท่าตัว ภายหลังจากการลงทุนทั้งสี่ขั้นตอน หรือ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจโดย รวมเพิ่มขึ้นในย่านอัจฉริยะและพื้นที่โดยรอบไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาทต่อปี นับจากการลงทุนตามขั้นตอนเสร็จสิ้น”