โรงงาน-ค้าปลีกติดปีกดิจิตอล ‘ฟูจิตสึ’ เผยลูกค้าตื่นทุ่มลงทุนทรานส์ฟอร์มธุรกิจ

03 ก.พ. 2561 | 06:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ชี้ปี 61 องค์กรตื่นทรานส์ฟอร์มธุรกิจมุ่งดิจิตอล “โรงงาน-ค้าปลีก” แห่ลงทุนเทคโนโลยี หวังลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ-สร้างประสบการณ์ใหม่ให้ลูกค้า “ฟูจิตสึ” โชว์เคส “ปูนนครหลวง” ยกเครื่องมุ่งอินดัสตรี 4.0 แห่งแรก กลุ่ม “เดอะมอลล์” เตรียมเปิดบริการ QR Payment

นางสาวกนกกมล เลาหบูรณะกิจ รองหัวหน้ากลุ่มฝ่ายขาย บริษัทฟูจิตสึ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าปีนี้องค์กรธุรกิจจะเริ่มลงทุนปรับธุรกิจสู่ดิจิตอลชัดเจน โดยกลุ่มที่มองว่าจะมีการลงทุนเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือ โรงงานอุตสาหกรรม เพื่อปรับกระบวนการผลิตให้มีความฉลาดมากขึ้น ทั้งการวางแผนการผลิต และการบริหารจัดการผลิต และลดต้นทุนการผลิต โดยเทคโนโลยีที่มีการลงทุนมีทั้งเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง หรือ IoT, หุ่นยนต์และแมชีน เลิร์นนิ่ง เพื่อการซ่อมบำรุงเครื่องจักร

[caption id="attachment_255393" align="aligncenter" width="377"] กนกกมล เลาหบูรณะกิจ กนกกมล เลาหบูรณะกิจ[/caption]

โดยตัวอย่างที่ชัดเจนของภาคอุตสาหกรรมผลิตที่มีการปรับตัวสู่ดิจิตอล คือปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งถือเป็น “โรงงานดิจิตอลอัจฉริยะ” (Digital Connected Plant) แห่งแรกในไทยที่ใช้เทคโนโลยีการติดตั้งระบบ Pervasive Wireless Network และระบบเชื่อมต่อไร้สายครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ภายในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ โดยเริ่มติดตั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานที่โรงงาน 3 จังหวัดสระบุรี นอกจากนี้ยังได้ลงทุนระบบแมชีนเลิร์นนิ่ง โดยสามารถคาดการณ์การซ่อมบำรุงเครื่องจักรได้ล่วงหน้า ระบบดิจิตอลอินสเปกชัน ซึ่งมีการจดบันทึกข้อมูลเป็นดิจิตอล สามารถดึงข้อมูลมาเพื่อทำการวิเคราะห์ได้ และระบบคอนสตรักเตอร์ แมเนจเมนต์ สำหรับบริหารจัดการพนักงานภายนอก ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยระบบดังกล่าวสามารถติดตามการทำงาน และวัดประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานภายนอก โดยปูนซีเมนต์นครหลวง ตั้งเป้าหมายพัฒนาไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0

ส่วนอีกกลุ่มคือธุรกิจค้าปลีก ที่สัมผัสลูกค้ามากสุด และได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันของผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ โดยปีนี้จะเริ่มเห็นการนำเทคโนโลยีคิวอาร์ เพย์เมนต์ (QR Payment) มาใช้งานรับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ โดยมีเบื้องหลังการชำระเงินที่สำคัญคือพร้อมเพย์ โดยการนำระบบดังกล่าวมาใช้เพื่อลดปริมาณการใช้เงินสด ลดการคอร์รัปชันของพนักงาน และเพิ่มความสะดวกสบาย สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับลูกค้า ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่แค่ลดปริมาณการใช้เงินสดอย่างเดียว ธุรกิจค้าปลีกยังมีการสร้างโมบายแอพพลิเคชัน ขึ้นมาเพื่อให้รู้จักตัวตนของลูกค้ามากขึ้น โดยลูกค้ากลุ่มค้าปลีกรายแรกของฟูจิตสึที่จะนำเทคโนโลยีคิวอาร์เพย์เมนต์มาใช้คือเดอะ มอลล์ กรุ๊ป

728x90-03-3-503x62-3-503x62 “ในกลุ่มค้าปลีก เราพร้อมนำเทคโนโลยีที่ถูกใช้กับธุรกิจค้าปลีกในเกาหลี และญี่ปุ่น เข้ามาประยุกต์ใช้กับธุรกิจค้าปลีกในไทย โดยเรามีโซลูชันการชำระเงินด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริก (Biometric Cashless) ที่ใช้เครื่องปาล์ม ซิเคียว สแกนเส้นเลือด ซึ่งปลอมแปลง หรือเลียนแบบได้ยาก นอกจากนี้ยัง มีโซลูชัน Self Check Out สำหรับธุรกิจค้าปลีก ที่ลูกค้าบริการตนเองโดยไม่มีพนักงานขาย และแคชเชียร์ สามารถเช็ก อิน เช็กเอาต์ จ่ายเงิน ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกับเซเว่น อีเลฟเว่นในเกาหลี พัฒนาร้านค้าต้นแบบแห่งแรกขึ้นมาในเกาหลี”

นางสาวกนกกมล กล่าวต่อไปว่าจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ทำให้หน่วยงานภาครัฐตื่นตัวออกมาให้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิตอล ทำให้ครึ่งปีหลังมาองค์กรเริ่ม มีการวางแผนปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิตอล และปีนี้จะเป็นปี แรกที่องค์กรมุ่งการลงทุนเทคโนโลยีอย่างจริงจัง เพื่อลดต้นทุน และสร้างประสบการณ์ ใหม่ให้ลูกค้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,336 วันที่ 1 - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว