“ก้าวหน้า-ก้าวไกล” ค้านควบรวมดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” หยุดผูกขาดมือถือ

02 ส.ค. 2565 | 10:14 น.

“ก้าวหน้า-ก้าวไกล”ค้านควบรวมดีลแสนล้าน “TRUE-DTAC” ทำ ปชช.เสียประโยชน์ “ธนาธร” ชวนติดแฮกแท็กหยุดผูกขาดมือถือ เผยหากไม่มีการแข่งขันประชาชน ประเทศชาติเสียผลประโยชน์

วันนี้ 2 สิงหาคม 2565 จากกรณีที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดเสวนาชะตากรรมผู้บริโภค กับยุคผูกขาดคลื่นความถี่ สร้างความเข้าใจ ผลได้ ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค หากเกิดการควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม และระดมความคิด หาทางออกในการคุ้มครองผู้บริโภค

 

ล่าสุด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และน ายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมวงเสวนาวิชาการและการแถลงข่าว “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” จัดโดยสภาองค์กรของผู้บริโภค และโคแฟค ประเทศไทย ร่วมพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับความพยายามควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมในปัจจุบัน ระหว่าง ทรู-ดีแทค และกรณีอินเตอร์เน็ตบ้านโดยเอไอเอส-ทรีบรอดแบนด์ (3BB)

นายธนาธร กล่าวว่า ช่วงเวลานี้คือโค้งสุดท้ายของการตัดสินใจโดยบอร์ด กสทช. ว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค หรือไม่ ซึ่งนี่เป็นผลประโยชน์มหาศาลของกลุ่มทุนที่มีขนาดใหญ่มาก หากย้อนกลับไปในวันที่มีการประกาศดีลนี้เป็นครั้งแรก ราคาหุ้นทรู จากเดิมอยู่ที่ 4.2 บาทต่อหุ้น วันรุ่งขึ้นกลายเป็น 4.8 บาทต่อหุ้น มูลค่าตลาดเพิ่มจาก 1.4 แสนล้านบาท เป็น 1.6 แสนล้านบาทภายในคืนเดียว ทั้งที่ยังไม่มีการควบรวมก็รวยขึ้นแล้ว 2 หมื่นล้านบาท

 

นายธนาธร กล่าวอีกว่า วันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่เศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน หัวใจของเศรษฐกิจในอนาคต ขึ้นอยู่กับ ความเร็ว ราคา และความเสถียร ของระบบโทรคมนาคม ซึ่งประเทศไทยจะไม่สามารถรักษาปัจจัยเหล่านี้เอาไว้ได้เลยหากไม่มีการแข่งขัน เมื่อไม่มีการแข่งขันก็จะไม่มีแรงจูงใจให้ต้องลงทุนเพิ่ม ไม่จำเป็นต้องตอบสนองความต้องการผู้บริโภค การลงทุนจะเป็นไปแบบพอประมาณ และนั่นหมายความว่าจะไม่มีการตอบสนองต่อความต้องการด้านความเร็ว ราคา ความเสถียรที่มากขึ้นทุกวัน การป้องกันไม่ให้เกิดการควบรวมผูกขาดจึงมีความสำคัญมาก เพื่อให้กิจการโทรคมนาคมมีผู้เล่นที่พร้อมแข่งขัน ทำกำไรจากนวัตกรรม ส่งมอบสินค้าที่ราคาถูกหรือมีคุณภาพมากกว่าเดิมให้ผู้บริโภค ไม่ใช่จากการผูกขาด

 

 

ค้านดีลแสนล้าน TRUE-DTAC

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 10 สิงหาคม ที่บอร์ด กสทช. จะมีมติออกมาในกรณีของ ทรู-ดีแทค ได้เพียงสี่กรณีเท่านั้น นั่นคือ 

  • อนุญาตให้ควบรวมธุรกิจได้โดยไม่มีเงื่อนไข 
  • อนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับพฤติกรรมการควบรวม 
  • อนุญาตให้ควบรวมโดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการเปลี่ยนโครงสร้าง 
  • ไม่อนุญาตให้ควบรวม 

 

เมื่อพิจารณาแล้ว มีแนวโน้มว่าหากเป็นการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขเล็กน้อย ไม่มีทางที่ กสทช. จะตามทันกลุ่มทุน อีกทั้ง กสทช. ไม่เคยใช้ยาแรงที่ทำให้เกิดการควบรวมอย่างมีเงื่อนไขในเชิงปรับโครงสร้างมาก่อน เช่น การบังคับให้มีการ ให้มีการแยกตัวกิจการ และไม่มีความกล้าหาญขนาดนั้นด้วย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดการอนุญาตให้ควบรวมอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือมีเงื่อนไขเล็กน้อยเท่านั้น

 

 

 

ค้านดีลแสนล้าน TRUE-DTAC

 

นายธนาธร กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการนี้ จึงขอเรียกร้องให้ทุกคนช่วยให้กำลังใจสภาองค์กรผู้บริโภค โดยเฉพาะในการยื่นหนังสือต่อ กสทช. ในวันพรุ่งนี้ และขอให้ร่วมลงชื่อในการรณรงค์ผ่าน http://change.org เพื่อส่งเสียงของประชาขนคนไทย ว่าเราไม่เห็นด้วยกับกรณีการควบรวมครั้งนี้ พร้อมกับร่วมรณรงค์โดยติดแฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ให้เสียงของเราดังไปถึงผู้มีอำนาจ ให้ผลการตัดสินออกมาเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศไทย ไม่ใช่กับกลุ่มทุนผูกขาด

 

ส่วนนายวรภพ กล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทยที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น จากค่าบริการที่ลดลงและบริการที่ดีขึ้น ดังนั้น การควบรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ทรู-ดีแทค หรือกรณีของ เอไอเอส-3BB จึงล้วนเป็นเรื่องที่มีความน่ากังวลทั้งสิ้น ยิ่งในกรณีของ ทรู-ดีแทค ที่มีการอ้างว่านี่คือการควบรวมจาก 4 รายเหลือ 3 ราย จะไม่ทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะ NT มีส่วนแบ่งตลาดเพียงราว 2 เปอเซนต์เท่านั้น ซึ่งเล็กเกินกว่านับเป็นหนึ่งรายได้ ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นหนึ่งในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานพอกับไฟฟ้า และในอนาคตจะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน การควบรวมที่ก่อให้เกิดการผูกขาด จะฉุดรั้งการพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ผิดกับที่ผู้ควบรวมกล่าวอ้างว่าการควบรวมจะทำให้เราแข่งขันในยุค 4.0 ได้มากขึ้น 

นายวรภพ กล่าวอีกว่า การควบรวมที่มีผู้เล่นเหลือ 2 รายเช่นนี้ จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต ส่งผลเสียต่อประเทศไทยในวงกว้าง การควบรวมหากเกิดขึ้นจะกลายเป็นใบเบิกทางจากรัฐให้มีการควบรวมกันได้ในทุกธุรกิจ แนวโน้มในอนาคตจะมีการควบรวมในธุรกิจต่างๆ มากขึ้น และการแข่งขันน้อยรายจะไม่ได้มีแค่ในกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น

“เมื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการแข่งขันกันอยู่ในภาคเอกชนเท่านั้น หน่วยงานรัฐจึงมีหน้าที่ใช้อำนาจเพื่อรับประกันผลประโยชน์ผู้บริโภคให้มีการแข่งขันอยู่ เป็นที่ชัดเจนว่า กสทช. มีอำนาจและหน้าที่ในการให้มีมาตรการป้องกันการผูกขาดหน้าที่ของรัฐในการปกป้องผู้บริโภค และจะต้องไม่อนุญาตให้เกิดการควบรวมกิจการนี้” นายวรภพ กล่าว.