กฎหมายใหม่ จัดพื้นที่-มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รับท่องเที่ยว

03 เม.ย. 2567 | 00:23 น.

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในหลายบริเวณท้องที่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูแลเสริมภาพลักษณ์รับการท่องเที่ยว

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2567 มีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเสนอเข้ามายังที่ประชุมเพื่อพิจารณา โดย “รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง 

กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณท้องที่ตำบลตลิ่งงาม ตำบลบ่อผุด ตำบลมะเร็ด ตำบลแม่น้ำ ตำบลหน้าเมือง ตำบลอ่างทอง ตำบลลิปะน้อย อำเภอเกาะสมุย และตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ ตำบลเกาะเต่า อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ.... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอ

 

“รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวเป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิม เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และให้การอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และน่านน้ำ ให้มีความต่อเนื่องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอันเกิดมาจากการขยายตัวของชุมชน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

รวมถึงรักษาทัศนียภาพอันเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ไว้ ควบคู่กับการเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่จะก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งประกาศกระทรวงฯ ฉบับเดิมนั้นจะสิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568  

สำหรับการปรับปรุงแก้ไขจะมีสาระสำคัญจากประกาศเดิม ดังนี้

1. ปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกับกฎหมายหลักที่มีการบังคับใช้ในพื้นที่ เช่น กฎหมายว่าด้วยสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า กฎหมายว่าด้วยป่าไม้

2. ปรับปรุงบางมาตรการที่ไม่มีการกำหนดในกฎหมายอื่นให้มีความเหมาะสม เช่น พื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางตั้งแต่ 80 เมตรขึ้นไป และพื้นที่ที่มีความลาดชันตั้งแต่ 35% โดยกำหนดให้มีการก่อสร้างอาคารได้

3. กำหนดให้มีมาตรการเพื่อนุรักษ์พื้นที่ป้องกัน และลดผลกระทบจากการพัฒนาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารและการก่อสร้างโรงงาน โดยให้มีพื้นที่น้ำซึมผ่านได้และมีการปลูกต้นไม้หรือจัดให้เป็นพื้นที่สีเขียวในพื้นที่ว่า

4. ปรับปรุงมาตรการที่มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการรายย่อย เช่น กำหนดสามารถสร้างอาคารได้ ปรับขนาดแปลงที่ดินเพื่อผ่อนปรนให้ผู้ที่มีที่ดินขนาดเล็กสามารถก่อสร้างอาคารได้ ปรับเพิ่มขนาดจำนวนห้องของโรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุดที่เข้าข่ายต้องจัดทำข้อกำหนดท้ายประกาศ และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น

5. เพิ่มเติมกลไกการกำกับดูแล และติดตามผลการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม โดยให้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเป็นหน่วยงานประสานงานในการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ