กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งลุยเปิดทุกจังหวัด “ศูนย์ต้านโลกร้อน”

27 มี.ค. 2567 | 05:50 น.

“จตุพร”ปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ เปิดยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน เร่งผลักดันร่างกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมตั้งศูนย์ฯ ระดับจังหวัดทั่วประเทศ ทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน ด้าน “ปวิช” ชี้วิกฤตโลกร้อนทวีความรุนแรง ต้องผนึกกำลังกันลุยแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก

“ฐานเศรษฐกิจ” เปิดตัวสำนักข่าว Climate Center พร้อมเซ็น MOU กับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาสัมพันธ์การดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักให้กับประชาชน ประสานความร่วมมือทุกภารคส่วน และสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศ ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ (25 มี.ค. 2567)

กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งลุยเปิดทุกจังหวัด “ศูนย์ต้านโลกร้อน”

ในงานนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “บทบาทภาครัฐ เอกชน และสื่อมวลชนกับการรับมือโลกร้อน” โดยฉายภาพปัญหาจากภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อโลก พร้อมชี้ให้เห็นปัญหาโลกร้อนจะส่งผลกระทบตามมาอีกมาก เพราะอีกไม่ถึง 6 ปี สภาพอากาศจะนับถอยหลังชี้ชะตาโลก ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะถ้าอุณหภูมิโลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งที่จะตามมาจะมีปัญหาทั้งหมด

ที่ผ่านมาประเทศไทยและโลกได้เข้าสู่ขบวนการพูดคุยและเข้าสู่กระบวนการเยอะมาก การประชุม COP ที่ผ่านมา 10 ครั้ง แต่ที่ผ่านมาการประชุมอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (UNFCC) และ Kyoto Protocol 2005 กำหนดข้อตกลงระหว่างประเทศร่วมกัน แต่ทั้งหมดยังไม่บรรลุข้อตกลง มาบรรลุข้อตกลงในการประชุม ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส(Paris Agreement 2016) ที่กำหนดให้ต้องควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1-2 องศาเซลเซียส

ส่วนการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 28 หรือ COP 28 ที่นครดูไบ กำหนดให้ค่อย ๆ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล และบรรลุข้อตกลงว่าต้องทำอย่างไรในการควบคุมอุณหภูมิรวมทั้งมีความพยายามลดพลังงานฟอสซิล 40% ในปี 2030 แต่ถ้าลด 40% อุณหภูมิของโลกต้องเกินอยู่ดี ต้องให้ลดลงอีก 3 % ซึ่งประเทศไทยต้องดูอีกครั้ง ในการกำหนดมาตรการให้ส่วนราชการไปจัดการในแต่ละเรื่อง

อีกเรื่องหนึ่งที่คล้ายกับ “Climate Center ” คือ “Climate Club ” เป็นการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างพลัง โดยจะมีงบประมาณช่วยประเทศที่ต้องการ เช่น ประเทศไทย เพิ่งได้รับอนุญาตให้ลงนามเข้าร่วม “Climate Club ” ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากที่ไทยได้ลงนามร่วมเป็นสมาชิก Climate Club ประเทศไทยสามารถนำเงินมาช่วยเหลือบริษัทที่ต้องการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งลุยเปิดทุกจังหวัด “ศูนย์ต้านโลกร้อน”

  • เปิด 5 ยุทธศาสตร์ลดโลกร้อน

นายจตุพร กล่าวว่า สำหรับประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก ณ ปัจจุบันคือจีน (รองลงมา ได้แก่ สหรัฐ อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย) ขณะที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 19 ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 1% แต่ถ้าเกิดอุณหภูมิเพิ่มขึ้น ประเทศไทยจะเป็น1 ใน 10 ประเทศ ที่จะเกิดปัญหาเรื่องโลกร้อน เพราะไทยมีแนวเขตที่ติดชายฝั่งทะเล 3,000 กว่ากิโลเมตร จะเกิดนํ้าทะเลที่สูงขึ้น รัฐบาลมีแผนไปสู่เป้าหมาย โดยต้องการนำแผนนี้ไปให้ทุกภาคส่วนปฎิบัติ ทุกเซ็กเตอร์ต้องมีเป้าหมายในการลด และยังมีการปลูกป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้เกิดความสมดุล ในไทยปลูกป่า 30% ประเทศทำได้ แต่อีก 40 % ที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศยังทำไม่ถึง และในการประชุมครั้งล่าสุด COP 28 ให้เพิ่มอีก 3 %

สำหรับยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนลดโลกร้อน 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ขับเคลื่อนและติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา 2.พัฒนา/ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้เครื่องมือ/กลไกสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจก 3.เสริมสร้างศักยภาพการมีส่วนร่วม/เครือข่ายความร่วมมือ รัฐ เอกชน ประชาชน 4. เตรียมความพร้อมการดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวของประเทศ และ 5. ส่งเสริมการดำเนินความร่วมมือการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ

“ทั้งหมดคือปัญหาใหญ่ที่เราจะต้องทำ เพราะจะกระทบเรื่องการลงทุน มีการเจรจากับแบงก์ชาติ เรื่องการทำกรีนฟันด์ ให้แบงก์ปล่อยเงินลงมา เพื่อให้ภาคเอกชนไปกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน”

  • ดันกฎหมาย ไร้วาระการเมือง

นายจตุพร กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน แต่ที่ยากมาก คือการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายดีขนาดไหน แต่การบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ก็เป็นปัญหา ซึ่งต้องพูดกับประชาชน กฎหมายจะผ่านหรือไม่ ต้องรอดูเพราะกระทบคนเยอะมาก แต่มีกฎหมาย ดีกว่าไม่มี เพราะต่อไปต้องเจอกำแพงภาษี ที่กระทบการทำงาน โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ถ้าเป็นไปได้ ปีนี้จะผลักดันให้เสร็จก่อนประชุม COP 29 ที่อาเซอร์ไบจาน

ที่ผ่านมามีการหารือกับรัฐมนตรีหลายประเทศอย่างสปป.ลาว มีกรมโลกร้อน แต่ของไทยที่ผ่านมาเป็นเป็นเพียงสำนักหนึ่งในสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่ทุกอย่าง ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย ตั้งเป็นกระทรวง ในอาเซียนมีทุกประเทศยกเว้นประเทศไทย เราจึงปฏิรูประบบราชการ โดยเอากรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมมาปรับภายใน จนกลายเป็นกรมการเปลี่ยนแปลงอากาศและสิ่งแวดล้อม และตั้งหน่วยงานต่าง ๆขึ้นมา

“การมี Climate Center เพื่อสร้างการรับรู้แก่ประชาชน ถ้าเกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมขึ้นมา ต้องไม่มีวาระทางการเมือง ไม่มีแบ่งแยกเรื่องของฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของบ้านเมืองที่ต้องประสบปัญหาร่วมกัน ทุกคนจึงต้องช่วยกัน กรณี ฝุ่น PM 2.5 เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งโลก จึงตั้งศูนย์เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดขึ้นมา

สำหรับ Climate Center ที่เปิดตัว จะให้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) หรือ อบก. จัดงบประมาณบางส่วน และจัดเจ้าหน้าที่ลงไปฝึกระดับจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ. ศูนย์ฯระดับจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ต้องการเอาโครงสร้างที่เหมือนโลกซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีบริบทที่ต่างกัน และจัดการปัญหาด้วยกัน ให้มีการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ตอนนี้เรามีกระบอกเสียงที่จะไปสื่อสารกับประชาชนได้รับรู้และสามารถโต้ตอบได้ และอาจมีการสัญจรไปต่างจังหวัด ให้มีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกัน เพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายที่ประเทศตั้งไว้

  • วิกฤตโลกร้อนทวีรุนแรง

ด้าน นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กล่าวบรรยาย “ยุทธศาสตร์ภาครัฐ จุดเปลี่ยนรับมือ Climate change” สรุปใจความสำคัญว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯมีแผนนโยบายที่จะขับเคลื่อนทางด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ทุกคนทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สุขอนามัย และความเป็นอยู่ของคน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเกิดขึ้นมานับร้อยปีแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งทางสหประชาชาติ (UN) ได้เล็งเห็นแล้วว่าปัญหาของโลกทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้โลกร้อนขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายชีวภาพ ส่งผลกระทบไปหมดไม่ใช่สิ่งแวดล้อมอย่างเดียว และกระทบโลกในวงกว้างไม่ว่าจะเป็นประเทศรํ่ารวยหรือยากจนโดนหมด เป็นสาเหตุที่โลกต้องร่วมมือกัน และขึ้นความสามารถของแต่ละประเทศในการแก้ไขปัญหา เพราะโลกยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกประมาณ 70 กิกะตันเท่านั้น โดยคณะกรรมการระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคาดการณ์ไว้ว่าสิ้นศตวรรษนี้อุณหภูมิโลกอาจจะสูงขึ้นถึง 4 องศาก็เป็นไปได้ สิ่งที่มีชีวิตบนโลกอาจจะปรับตัวไม่ได้และได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

กระทรวงทรัพย์ฯ สั่งลุยเปิดทุกจังหวัด “ศูนย์ต้านโลกร้อน”

  • ลุยแผนลดโลกเดือด

สำหรับประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 (2593) และมีแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558-2593 โดยแผนฉบับนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน 1. ลดก๊าซเรือนกระจก 2.การปรับตัว สิ่งเหล่านี้จะต้องมาผนวกกัน รวมทั้งเรื่องการสร้างขีดความสามารถให้กับพี่น้องประชาชน ขณะที่ทางกรมฯมีแผนปฏิบัติการการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งใน 4 ภาคสำคัญ เช่นภาคพลังงาน ขนส่ง เรื่องขยะของเสีย เรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตภาคอุตสาหกรรมอะไรต่างๆ ก็เป็นที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเ ฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณที่สูง ทำอย่างไรจะลดได้ ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่า เป้าหมายประเทศที่ตั้งเป้าไว้ ปี 2030 จะลดได้เท่าไร

ทั้งนี้แบ่งเป็นส่วนที่กรมฯจะดำเนินการเอง ขณะที่ภาคพลังงานและภาคขนส่ง ขึ้นอยู่กับแผนแม่บทพลังงาน ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะมีการประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ โดยกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็มีการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิด ถึงตัวเลขที่ต้องลดต้องทำอย่างไรบ้าง

“อย่างไรก็ดีการลดก๊าซเรือนกระจกขีดความสามารถเราก็มีเท่านี้ ต่างชาติเข้ามาช่วยได้หรือไม่ อาทิ เรื่องการทำนาเปียกสลับแห้ง เป็นต้น เรื่องการปรับเปลี่ยนใช้พลังงาน เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงิน และองค์ความรู้ ขณะที่คาร์บอนเครดิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างประเทศกับประเทศ ซึ่งในความตกลงปารีสยังไม่ได้ข้อสรุปวิธีการ หรือระเบียบการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศว่าจะอยู่ตรงจุดไหน และจะทำให้มีความเท่าเทียม และเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร โดยไม่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน”

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2978 วันที่ 28 – 30 มีนาคม พ.ศ. 2567