กกพ.จ่อคลอดค่าไฟฟ้าสีเขียว ดึงนักลงทุน-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ

01 มี.ค. 2567 | 08:37 น.

อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว หรือ Utility Green Tariff : UGT ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศให้ไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbo Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065

นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศที่ต้องการพลังงานสะอาด ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ รับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำเอาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการส่งออกสินค้า อาทิ มาตรการทางภาษีคาร์บอนข้ามแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ที่ทางยุโรปนำมาใช้เป็นต้น

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) อยู่ระหว่างการจัดทำรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่จะนำมากำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว ในราคาที่เหมาะสม เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ และนักลงทุนจากต่างประเทศให้หันมาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้น

จากผลการศึกษา UGT ได้กำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าไว้ 2 รูปแบบ ให้เหมาะสมกับความต้องการของแต่ละธุรกิจ โดยประเภท UGT1 เป็นโรงไฟฟ้าเดิมไม่เจาะจงที่มา มีสัญญาบริการระยะสั้น คิดค่าไฟฟ้าอยู่ที่อัตราปกติทั่วไป เช่น ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย บวกเพิ่มค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) อีก 6 สตางค์ ที่ได้จากโรงไฟฟ้าพลังนํ้า 7 โรงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมเป็น 4.24 บาทต่อหน่วย ซึ่งค่าไฟฟ้าปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเชื้อเพลิงฟอสซิล กลุ่มนี้เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวที่ยังไม่เข้มข้นมากนัก

ขณะที่ประเภท UGT2 เป็นไฟฟ้าพลังงานสะอาด จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่เปิดรับซื้อใหม่ (Fit 2565-2573) จำนวน 4,800 เมกะวัตต์ คิดค่าไฟอยู่ที่ประมาณ 4.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งได้รวมค่าใบรับรองการผลิตไฟฟ้าสีเขียว (REC) และค่าบริการระบบไฟฟ้าเอาไว้แล้ว เป็นสัญญาบริการระยะยาว 10 ปี ซึ่งไฟฟ้าสีเขียวประเภทนี้จะเหมาะกับผู้ประกอบการที่ต้องการไฟฟ้าสีเขียวที่มีมาตรฐานสูง จากโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดใหม่ที่เพิ่มเข้ามาในระบบไฟฟ้า (additionality) และสามารถติดตาม (track) ใบรับรองว่ามาจากโรงไฟฟ้าเดียวกันตั้งแต่ต้นทาง

กกพ.จ่อคลอดค่าไฟฟ้าสีเขียว ดึงนักลงทุน-เพิ่มขีดแข่งขันประเทศ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ชี้ให้เห็นว่า จากที่ได้รับฟังความคิดเห็นจากบริษัทระดับชั้นนำของประเทศ ต่างมีความเห็นตรงกันในเรื่องมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเป็นอย่างมาก และส่วนใหญ่รับได้ กับอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวที่กำหนดไว้ไม่สูงจนเกินไปนัก

สะท้อนจากกลุ่มกลุ่มธุรกิจ “Data Center” ได้แสดงจุดยืนถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวแบบสมัครใจ ถึงแม้จะไม่มีมาตรการ CBAM ก็จะเลือกใช้พลังงานสะอาดอยู่แล้ว ซึ่งการประกาศใช้ UGT ทำให้เกิดความมั่นใจในการลงทุน และมั่นใจในความมั่นคงด้านไฟฟ้าสีเขียว UGT2 ที่ประเทศไทยสามารถสนับสนุนธุรกิจได้ตามต้องการ ไม่เกิดปัญหาไฟตก ไฟดับตามมา จนทำให้ธุรกิจได้รับความเสียหาย

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวเช่นกัน โดยห้างสรรพสินค้าต้องการ Green Energy ให้บริการลูกค้าเพื่อสร้างภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และต้องการให้สัญญาที่ Flexible เพื่อให้บริการลูกค้าผู้เช่าพื้นที่ด้วย และกลุ่มอุตสาหกรรมต้นนํ้า หรือ supply chain ยังมีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการ  CBAM ที่ไม่แน่นอน และระดับราคาของ UGT2 (ในกรณีที่อาจจำเป็นต้องใช้) ซึ่งจะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ เป็นต้น

คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.

“หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะรวบรวมและสรุปรายละเอียดของ UGT1 เสนอบอร์ด กกพ. พิจารณาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ UGT1 มีผลนำมาใช้บังคับก่อน ส่วน UGT2 มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวที่แตกต่างกัน จะรวบรวมข้อมูลและนำไปปรับปรุงเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอบอร์ด กกพ.เห็นชอบ คาดว่าไฟฟ้าสีเขียว UGT2 ที่จะได้ใช้จริง ๆ น่าจะต้นปี 2568 ตามกำหนด SCOD ของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบ”

นายคมกฤช กล่าวว่า การดำเนินงานดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนว่า ไทยมีความพร้อมในการประกาศใช้ “ไฟฟ้าสีเขียว” เป็นการทั่วไปที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ และเป็นชาติแรกในอาเซียนด้วย แม้ที่ผ่านมาทางประเทศเวียดนามได้มีการรับฟังความคิดเห็นโครงการนำร่องไฟฟ้าสีเขียวแบบ Direct PPA ไปแล้วก็ตาม แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบและยังไม่มีรายละเอียดกลไกการดำเนินงานที่ชัดเจน และการที่เวียดนามพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังนํ้ามาเกินไปก็จะทำให้มีความเสี่ยงเกิดไฟฟ้าดับในช่วงหน้าแล้งด้วย

ส่วนประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย มีการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินเป็นหลัก จะทำให้มีต้นทุนสูงในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งมาเลเซีย มีโครงการที่คล้ายกับ UGT แต่มีปริมาณค่อนข้างจำกัดและยังไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ให้บริการ ขณะที่อินโดนีเซียนมีการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปบ้างแล้ว แต่จะเป็นลักษณะทำสัญญาขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าบางรายเท่านั้น เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ได้ผลักดันให้เกิดไฟฟ้าสีเขียวในบางพื้นที่เท่านั้น

ดังนั้น ไทยจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการดึงดูดนักลงทุนด้วยพลังงานสะอาด และให้บริการไฟฟ้าที่มีคุณภาพ และสามารถยื่นขอใช้ไฟฟ้าสีเขียวได้ทั่วประเทศ ถือเป็นความได้เปรียบของประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการไฟฟ้าสีเขียวให้กับนักลงทุนได้