สัตว์-พืชต่างถิ่นบุก! ธรรมชาติป่วน ทำโลกเสียหายกว่า 4.2 แสนล้านดอลล์/ปี

02 ต.ค. 2566 | 12:49 น.

อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยิ่งช่วยกระพือให้การขยายตัวของสัตว์และพืชต่างถิ่นที่เป็นผู้รุกราน (invasive species) ทวีความรุนแรง รายงานของสหประชาชาติชี้ว่า ปัญหานี้สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจปีละกว่า 4.2 แสนล้านดอลลาร์ (15.6 ล้านล้านบาท)

 

นักวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานสังกัด องค์การสหประชาชาติ เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ความโกลาหลด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจาก การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น ที่เรียกว่า invasive species ในหลายพื้นที่ทั่วโลก ได้สร้าง ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ที่ยกระดับเพิ่มขึ้นสี่เท่าทุก ๆ รอบ 10 ปี โดยเราสามารถเห็น “การรุกราน” นี้ได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งหนองน้ำแหล่งประมงที่ถูกปกคลุมด้วยผักตบชวาแน่นขนัด ท่อน้ำของโรงไฟฟ้าที่อุดตันไปด้วยหอยแมลงภู่ และสายไฟฟ้าที่ถูกถ่วงรั้งลงมาโดยงูต้นไม้สีน้ำตาล

ทีมนักวิจัย 86 คนจาก 49 ประเทศได้เผยแพร่รายงานการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลกในระยะเวลาสี่ปี อันเกิดจากสัตว์และพืชต่างถิ่นสายพันธุ์รุกรานและเป็นอันตรายจำนวนราว 3,500 ชนิด โดยรายงานดังกล่าวพบว่า สถานการณ์การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่นนี้ ทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละกว่า 423,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 15.6 ล้านล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น (alien species) ยังเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์พื้นถิ่นถึง 60%

การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น (alien species) ยังเป็นสาเหตุหลักของการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์พื้นถิ่นถึง 60%

เฮเลน รอย นักนิเวศวิทยาที่เป็นประธานร่วมของคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services หรือ IPBES) ยอมรับว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาเลวร้ายที่มีแต่จะย่ำแย่ลงไปกว่านี้

ปัญหาถูกกระพือแรงขึ้นด้วยภาวะโลกร้อน

หนึ่งในเหตุผลที่ทิศทางของปัญหานี้มีแต่จะเลวร้ายขึ้นก็คือ อุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นนี้ จะยิ่งทำให้การขยายตัวของสัตว์และพืชต่างถิ่นที่เป็นผู้รุกรานนั้น ยิ่งทวีความรุนแรงหนักขึ้นไปอีก

ทั้งนี้ สายพันธุ์ที่รุกราน หรือ invasive species หมายถึงพืชหรือสัตว์ที่เคลื่อนย้ายหลักแหล่งที่อยู่อาศัย โดยส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายโดยฝีมือมนุษย์ หรือโดยกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสภาพแวดล้อมที่มันย้ายไปอยู่ เนื่องจากพืชและสัตว์พันธุ์ต่างถิ่นนี้ จะเข้าไปทำลายสิ่งมีชีวิตในพื้นที่ท้องถิ่น สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งยังเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพและการดำรงชีพของมนุษย์อีกด้วย

ผลกระทบจากพืชและสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นผู้รุกรานนี้ มักจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่งก็จะกลายเป็นหายนะขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างกรณีไฟป่าครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในมลรัฐฮาวายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งนักวิจัยกล่าวว่า หนึ่งในสาเหตุของไฟที่ลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดจากหญ้าชนิดพันธุ์รุกรานที่สามารถติดไฟได้ หญ้าดังกล่าวเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่นที่ถูกนำมาจากแอฟริกาเพื่อใช้ในการทำปศุสัตว์

แอนิบัล พอชาร์ด รองประธานฝ่ายจัดทำรายงานของยูเอ็นฉบับนี้ ให้ความเห็นว่า พืชและสัตว์สายพันธุ์รุกราน ไม่เพียงสร้างผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นใหม่ที่มันแพร่กระจายเข้าไป แต่มันยังเป็นภัยคุกคามหรือสร้างความเสียหายให้กับสิ่งมีชีวิตรวมทั้งมนุษย์ ยกตัวอย่างยุงสายพันธุ์รุกราน ที่เป็นตัวแพร่กระจายไวรัสโรคเท้าช้าง มาลาเรีย ไวรัสซิกา และไวรัสเวสท์ไนล์ เป็นต้น

การรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น ทำให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละกว่า 423,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การกำจัดผู้รุกราน

ราวสามในสี่ของผลกระทบเชิงลบจากพืชและสัตว์สายพันธุ์รุกรานนั้นเกิดขึ้นบนบก โดยเฉพาะบริเวณป่าไม้และพื้นที่เกษตรกรรม

เฮเลน รอย นักนิเวศวิทยา ระบุว่า การแพร่กระจายสามารถเกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ อย่างเช่น ในลักษณะจุลินทรีย์ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและพืช แต่พืชและสัตว์สายพันธุ์รุกรานประเภทสัตว์ จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรูปแบบนักล่า (predators)

แต่ข้อเท็จจริงที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การกำจัดพืชและสัตว์สายพันธุ์รุกราน หลังจากที่พวกมันเข้ามาตั้งรกรากแล้วนั้น ถือว่าเป็นเรื่องยาก ในอดีตที่ผ่านมา เกาะเล็กๆ บางแห่งประสบความสำเร็จในการกำจัดหนูและกระต่ายที่เป็นสายพันธุ์รุกราน ด้วยการใช้กับดักและยาพิษ แต่ในบางกรณีสัตว์สายพันธุ์รุกรานนี้มีจำนวนมหาศาลและแพร่พันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว การจะกำจัดพวกมันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย รวมไปถึงพืชสายพันธุ์รุกรานบางชนิด ที่มักจะทิ้งเมล็ดไว้ในดินเฉย ๆ เป็นระยะเวลายาวนานหลายปี

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า มาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยทางชีวภาพบริเวณชายแดนและการควบคุมการนำเข้า คือวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการจำกัดการแพร่กระจายของพืชและสัตว์สายพันธุ์รุกรานเหล่านี้

มีข่าวดีเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว (2565) เมื่อรัฐบาลทั่วโลกให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการตามข้อตกลงการปกป้องระบบนิเวศโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะลดการนำเข้าและการปักหลักตั้งถิ่นฐานของพืชและสัตว์สายพันธุ์รุกรานลำดับต้นๆ อย่างน้อย 50 % ให้ได้ภายในปีค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573

ข้อมูลอ้างอิง