รับมือกติกาโลกใหม่ อียูจับมือไทยแก้ “โลกรวน” สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

08 ก.ย. 2566 | 09:42 น.

อียูพร้อมช่วยไทยรับมือภาวะโลกรวน เปิดเวทีติวเข้มเอกชนไทยปรับตัวรับกติกาค้าโลกใหม่ สรรพสามิตจ่อชงรัฐบาล “เศรษฐา” เก็บภาษีปล่อยคาร์บอน “พาณิชย์” ดัน BCG Model เป็นทางออกผู้ประกอบการสู้ศึกค้าโลก

ฐานเศรษฐกิจ มัลติมีเดีย และเนชั่นกรุ๊ป จัดงานสัมมนา “Road to Net Zero โอกาสและความท้าทายทางธุรกิจ” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นางสาวซารา เรโซอาลญิ อุปทูตรักษาการคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า สหภาพยุโรปหรืออียู และไทย ต่างมีความมุ่งหมายร่วมกัน มุ่งหน้าสู่การเป็นสังคมที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์โดยทางอียูตั้งเป้าไว้ที่ปี ค.ศ. 2050

อย่างไรก็ตามประชาคมโลกมีความก้าวหน้า ในการรับมือกับภัยคุกคามสภาพอากาศ จากการที่มีการทำข้อตกลงปารีสซึ่งมีเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียสโดยพยายามให้เพิ่มขึ้นที่ระดับเพียง1.5 องศาเซลเซียส ให้ได้ดังนั้นจึงเป็นช่วงเวลาที่นานาประเทศในโลกต้องทำให้คำมั่นสัญญากลายเป็นการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม

  • เสนอ 3 ข้อพันธกิจใน COP28

ก้าวต่อไปที่สำคัญของความพยายามระดับโลกในการรับมือกับปัญหาสภาพอากาศคือการประชุม COP28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พ.ย.ถึง 12 ธ.ค. 2566 ซึ่งอียูจะเดินหน้าสนับสนุนข้อเสนอเกี่ยวกับ “พันธกิจการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก” (Global Energy Transition Pledge) ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวโยงกัน นั่นคือ

 1. เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนโดยเฉลี่ย 3 เท่าระหว่างปีนี้และปี 2030

 2. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอัตราเฉลี่ยรายปีในช่วงทศวรรษนี้เป็นสองเท่า

 3. ทยอยยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างสิ้นเชิงก่อนปีค.ศ. 2050

รับมือกติกาโลกใหม่ อียูจับมือไทยแก้ “โลกรวน” สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

ทั้งนี้ อียูมีนโยบายที่เรียกว่า European Green Deal ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของข้อตกลงปารีสถือเป็นพันธกิจที่มีความผูกพันตามกฎหมาย เกิดจากกฎหมายสภาพอากาศยุโรป หรือ European Climate Law ประกอบด้วยแผนดำเนินการต่าง ๆ 50 มาตรการที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2021 ภายใต้กฎหมายดังกล่าว มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 55% (เมื่อเทียบกับปี 1990) ภายในปี 2030 และพร้อม ๆ กับกฎหมายดังกล่าว มีการนำเสนอแพ็คเกจที่เรียกว่า Fit for 55 ที่มีความริเริ่มต่าง ๆ มากมายที่จะชักจูงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

อุปทูตอียูอธิบายเพิ่มเติมว่า ในขณะที่ลดการปล่อยก๊าซที่เป็นมลพิษ นโยบายของอียูจะสร้างกลยุทธ์การเติบโตใหม่ ๆ ควบคู่กันไป มีแผนการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานไปสู่พลังงานสะอาด (green transition)ที่จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมได้ด้วยวิธีการต่างๆ

ความสำเร็จของ EU Emission Trading Scheme (ETS) ซึ่งเป็นระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกลไกทางการตลาดรูปแบบหนึ่งและทำให้เกิดตลาดซื้อขายคาร์บอนขนาดใหญ่ที่สุดและเป็นแห่งแรกของโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการลดปล่อยก๊าซโลกร้อนนั้นสามารถทำได้ด้วยการใช้กลไกที่คุ้มค่ากับการลงทุน

  • เร่งหารือลดผลกระทบ

อีกทั้ง เดินหน้าต่อยอดกลไกนี้ให้เติบโตต่อไป ด้วยการขยายขอบเขตครอบคลุมธุรกิจใหม่ อาทิ การขนส่งทางเรือ และด้วยการให้ความสำคัญกับธุรกิจที่สร้างมลภาวะมากที่สุด ขณะเดียวกันอียูก็ได้นำมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ CBAM มาใช้ หรือที่เรียกว่า มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนกำลังจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการการสร้างคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิตสินค้าในประเทศที่สามที่ส่งออกมายังตลาดในอียูด้วยการสร้างความเท่าเทียมต้นทุนราคาคาร์บอนระหว่างสินค้าภายในอียูที่มีการบังคับใช้ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) กับสินค้าที่ผลิตภายนอกอียูผ่านการปรับราคาคาร์บอน เพื่อเร่งให้ประเทศคู่ค้าของอียูลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง

ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คณะผู้แทนอียูประจำประเทศไทยร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (TGO) และกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมกันจัดสัมมนาเกี่ยวกับเรื่อง CBAM ในวันที่ 28 กันยายนนี้ เพื่อให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทยสามารถปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับกฎเกณฑ์ใหม่ของอียู เช่นเรียนรู้วิธีการคำนวณ และการแจ้งสำแดงรายละเอียด ซึ่งในวันที่ 1 ต.ค.นี้จะเป็นการเริ่มต้นช่วงแห่งการปรับตัวและเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 ถึงสิ้นปี 2568

“ปัจจุบันถือว่าสินค้าที่อยู่ในกลุ่มที่ครอบคลุมโดยกฎเกณฑ์ CBAM อาทิ ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน เป็นสินค้าที่ไทยไม่ได้มีการส่งออกไปยังอียูมากนัก ดังนั้นผลกระทบที่ไทยจะได้รับจากการบังคับใช้ CBAM จึงถือว่าน้อยมาก”

  • สรรพสามิตชงเก็บภาษีคาร์บอน

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ประเทศไทยประกาศเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยคาร์บอนจะเป็นศูนย์ หรือ NET ZERO ในปี 2065 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยลงนามพันธสัญญาระหว่างประเทศไว้ อย่างไรก็ตาม การจะไปสู่เป้าหมายจะต้องมีเครื่องมือ โดยโอกาสและความท้าทายของธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวด้วย เพราะธุรกิจไทยจะต้องปรับตัวเข้าสู่ NET ZERO แม้ไม่ปรับตัว โลก และกติกาโลกก็จะบีบบังคับให้ปรับตัวเช่นเดียวกัน

ในยุโรปเห็นได้ชัด มีการบังคับธุรกิจ มีการกำหนดปริมาณคาร์บอนของแต่ละธุรกิจที่จะสามารถปล่อยออกมาได้ หากทำไม่ได้ ต้องไปหาซื้อคาร์บอนในตลาด หรือ Emission Trading Scheme (ETS) เพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนเกินเกณฑ์ และหากใครปล่อยคาร์บอนตํ่ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็สามารถนำคาร์บอนไปขายได้

นอกจากนี้ ยังมีการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งเป็นการระบุเลยว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนเท่าใด ขณะนี้ในยุโรปใช้ไปแล้ว ส่วนในอาเซียน มีประเทศสิงคโปร์ที่มีผลบังคับใช้ มีการกำหนดว่า 1 ตันคาร์บอน จะเก็บภาษี 5-10 เหรียญสิงคโปร์ และจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตามอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรม ฉะนั้น ราคาหรือภาษีจึงถูกกำหนดโดยรัฐบาล

ทั้งนี้ ในหลักการของยุโรปนั้น เมื่อบังคับใช้ข้อจำกัดการปล่อยคาร์บอนกับคนในประเทศแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศ และส่งสินค้าเข้ามาที่ยุโรป จึงได้ออกเกณฑ์การเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 ต.ค.นี้ ในสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ไฟฟ้า ปุ๋ย ซีเมนต์ อลูมิเนียม เหล็ก ไฮโดรเจน และเหล็กที่มาจากต้นนํ้าและปลายนํ้า พร้อมกันนี้สหรัฐอเมริกา ก็กำลังจะทำกฎหมายในลักษณะเดียวกัน ผู้ที่ส่งสินค้าไปอเมริกาก็จะถูกเก็บภาษีคาร์บอนที่พรมแดน ฉะนั้น ธุรกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน

“สินค้าที่ยุโรปเริ่มเก็บ 7 ประเภทแรก ธุรกิจไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบเยอะ แต่ในอนาคตจะมีการขยายรายการสินค้าออกไปเรื่อย ๆ ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์โลก”

นายเอกนิติ กล่าวอีกว่า การรับมือดังกล่าว กรมสรรพสามิตก็ได้ปรับบทบาทตัวเอง ไม่ใช่กรมที่เก็บภาษีเฉพาะเหล้า บุหรี่ แต่จะมุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาธิบาล อะไรที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางกรมจะลดภาษีให้ ส่วนอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมจะเก็บภาษีมากขึ้น

ยกตัวอย่าง รถยนต์ที่ใช้ ในประเทศไทย ปล่อยคาร์บอน 400 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันการปล่อยก๊าซคาร์บอนสัดส่วน 70% มาจากภาคขนส่งและพลังงาน ภาษีสรรพสามิตเก็บทั้งขนส่งและพลังงาน แต่เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษี เพื่อให้เชื่อมโยงกับคาร์บอน ขณะนี้เราเก็บภาษีตามปริมาณคาร์บอนที่ปล่อย จากสมัยก่อนเก็บภาษีรถยนต์ตามขนาดกระบอกสูบ ซึ่งกรมได้ร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม

  • คิดภาษีพลังงานตามการปล่อย CO2

นอกจากนี้ สิ่งที่กรมสรรพสามิตจะทำต่อมา คือ พลังงาน โดยทุกวันนี้ยังเป็นดีเซล ไบโอดีเซล และอื่น ๆ อยู่ ซึ่งใครที่ใส่ไบโอ เอทานอลเข้าไป จะลดภาษีให้ แต่อนาคตจะคิดภาษีพลังงานตามอัตราการปล่อยคาร์บอน ซึ่งกรมได้เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่พิจารณา จะทำรูปแบบเช่นเดียวกันกับรถยนต์ ซึ่งเปลี่ยนจากกระบอกสูบ ไปผูกกับการปล่อยคาร์บอน

ทั้งนี้ เพื่อรองรับหากยุโรปและอเมริกาเริ่มเก็บภาษีที่พรมแดนเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งตอนนี้กรมกำลังคุยกับกระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำโครงสร้างภาษีที่ต่างประเทศยอมให้มีการหักลดหย่อนได้ หากส่งออกไปยังยุโรป อเมริกา เป็นต้น

“ถ้าเราไม่ทำแบบนี้ เราจะโดนเก็บภาษีเมื่อส่งออกไปยังยุโรป หรืออเมริกาอยู่ดี ฉะนั้น นี่คือสิ่งที่กติกาโลกจะบีบบังคับให้เราทำ ดังนั้นในภาคธุรกิจสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อม วันนี้ไม่ใช่แค่โอกาส และความท้าทาย เราต้องเตรียมพร้อมปรับตัว ธุรกิจเองก็ต้องเริ่มมีการวัดการปล่อยคาร์บอน เพราะท้ายที่สุดอีก 3 ปีข้างหน้า จะต้องใช้มาตรฐานของยุโรปเท่านั้น”

  • พาณิชย์ หนุนขับเคลื่อน BCG

นายพรวิช  ศิลาอ่อน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP)กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออกในบริบทของ Climate Change หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ถือเป็นความท้าทายดังนั้นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จาก BCG Eco nomic Model จึงถือเป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติที่สำคัญของไทย

ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักของการส่งออกสินค้าไทย สัดส่วนเกือบ 60% ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป (อียู) สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวันซึ่งเป็นท็อปเท็นของตลาดส่งออกสินค้าไทย มีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดถึงเข้มงวดที่สุด รวมถึงทั่วโลกมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น และจะมีการบังคับใช้อย่างจริงจังในเร็ววัน ทั้งนี้เพื่อส่งผ่าน Sustainability หรือความยั่งยืน ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมสู่ประชาชนของตน

แน่นอนว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความท้าทาย และมีนัยสำคัญต่อการส่งออกของไทย และมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยแน่นอน ขณะเดียวกันก็จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยหากมีการปรับตัวในการผลิตและส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมลดปล่อยก๊าซคาร์บอน

 “สิ่งที่เราทำแล้วและเราก็เห็นแล้วว่าประเทศไทยถ้าเรามองเรื่องนี้เป็นโอกาส เราเห็นตัวอย่างที่ดี ๆ มากมายและได้เห็นข้อได้เปรียบของผู้ประกอบการไทยและของสังคมไทยโดยรวมมากมาย เราเปลี่ยนโลกได้ถ้าเรามองโลกเป็นโอกาส ไม่ว่ามาตรการของประเทศคู่ค้าจะออกมาในรูปแบบของมาตรการบังคับ ไม่ว่าจะเป็น CBAM หรือเป็นมาตรการที่สมัครใจก็ตาม ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองของเราได้ นี่คือโอกาสโดยเฉพาะสำหรับผู้ประกอบการไทยซึ่งมีข้อได้เปรียบหลาย ๆ อย่าง”

นายพรวิช กล่าวอีกว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เห็นถึงโอกาสดังกล่าว ที่มาควบคู่กับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และเทรนด์เรื่อง Sustainability หรือความยั่งยืนที่เป็นเชิงบังคับของกระแสโลก ดังนั้นจึงได้ส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้ปรับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยใช้ BCG Economy Model มากขึ้นเพื่อสร้างโอกาสที่ในการเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ และขยายตลาดส่งออกไปในตลาดสำคัญ ๆ ที่เป็นตลาดหลัก ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอื่น ๆ ที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมหาศาล

รวมทั้งในช่วงต่อไปจะผลักไปอีกระดับหนึ่งเพื่อให้สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ มีความตระหนักถึงการต้องยกระดับไปอีกขั้นหนึ่งเพื่อให้รู้ว่าแต่ละบริษัทปล่อยคาร์บอนไปเท่าไรในการผลิตของเขา รวมถึงรับมือกับภาษีคาร์บอนของประเทศคู่ค้าที่จะมีความเข้มงวดขึ้น และครอบคลุมกับสินค้าต่าง ๆ มากขึ้นนอกเหนือจากสินค้าอุตสาหกรรม

สรุปทางกรมฯจะเน้นใน 3 เรื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ได้แก่ การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน เรื่อง BCG และเรื่องผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงสินค้าอาหารอนาคต(Future Food) ที่เป็นเนื้อเทียม มีกระบวนการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนตํ่าเมื่อเทียบกับสินค้าเนื้อสัตว์ ถือเป็นอีกกลุ่มสินค้าที่กำลังมาแรง ซึ่งจะร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ใช้โอกาสนี้ในการผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม