"สธ." เล็งติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" 1,855 แห่งปี 66 ลดใช้พลังงานลง 20%

01 ก.ย. 2566 | 01:29 น.

"สธ." เล็งติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" 1,855 แห่งปี 66 ลดใช้พลังงานลง 20% เริ่มใช้รถพลังงานไฟฟ้า ปรับปรุงอาคารเป็นแบบอนุรักษ์พลังงาน เพิ่มพื้นที่สีเขียว 25% ของพื้นที่ว่าง เน้นการแพทย์ทางไกล

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ปี 2566 ได้กำหนดให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ทั้งหน่วยงานบริหาร คือ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และหน่วยบริการ คือ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน รวม 1,855 แห่ง ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ ประมาณการว่าจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 904,353,667.20 บาท/ปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 99,458.49 tonCo2/ปี จนถึงขณะนี้มีหน่วยงานดำเนินการเรื่องโซลาร์เซลล์แล้ว 1,261 แห่ง ครอบคลุม 75 จังหวัด 

ยังเหลืออีก 1 จังหวัด ในจำนวนนี้ ติดตั้งสำเร็จแล้ว 508 แห่ง กำลังผลิตรวม 47,053 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 243,462,221.16 บาท/ปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 26,775.35 tonCo2/ปี 

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบาย Smart Energy and Climate Action (SECA) : พลังงานอัจฉริยะและการดำเนินการที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศอันเป็นสาเหตุของโลกร้อน 

ส่วนแผนการขับเคลื่อนในปี 2567 กองบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ 

สธ. เล็งติดตั้งโซลาร์เซลล์ 1,855 แห่งปี 66 ลดใช้พลังงานลง 20%

  • การติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ให้ครบทุกแห่งตามแผนงานที่กำหนด โดยโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 1,000 กิโลวัตต์ โรงพยาบาลทั่วไป 500 กิโลวัตต์ โรงพยาบาลชุมชนและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 100 กิโลวัตต์ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ 10 กิโลวัตต์ ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 124,093.80 tonCO2/ปี 
  • ทุกหน่วยงานมีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานลง 20% 
  • เริ่มมีการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าทดแทนของเดิมและสถานีชาร์จไฟฟ้า ด้วยเงินนอกงบประมาณ /เงินบำรุง /เงินบริจาค โดยตั้งเป้าหมายให้มีการใช้ทุกแห่งใน 10 ปี 
  • อาคารอนุรักษ์พลังงาน โดยปรับปรุงอาคารเดิมตามหลักเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยสำหรับอาคารระหว่างใช้งาน ส่วนการออกแบบอาคารใหม่ ให้จัดทำแบบหรือคัดเลือกแบบตามความต้องการใช้งาน โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทยสำหรับก่อสร้างใหม่ ขณะที่ Master Plan โรงพยาบาล ให้ทบทวนปรับปรุงแบบ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในตัวอาคารหรือภายนอกอาคาร 
     
  • การเพิ่มพื้นที่สีเขียว 25% ของพื้นที่ว่าง ภายใต้แนวคิดการจัดสวนเพื่อการเยียวยา/บำบัดรักษา และการจัดสวนทั่วไป 
  • เพิ่มศักยภาพการให้บริการ ลดการเดินทางและเพิ่มขีดความสามารถบริการใกล้บ้าน โดยจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยผ่านระบบการแพทย์ทางไกลในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่คุมอาการได้ รวมถึงปัญหาทางจิตเวช ตั้งเป้าหมายลดจำนวนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลศูนย์ / โรงพยาบาลทั่วไป ลง 10% หรือ 1.6 ล้านครั้งต่อปี 
  • การจัดการมูลฝอยและน้ำเสียด้วยหลัก 3R : Reduce Reuse Recycle โดยการบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อนำน้ำที่ผ่านการบำบัดมาใช้ประโยชน์ และลดปริมาณขยะมูลฝอยได้ 30% 

"กระทรวงสาธารณสุข จะรณรงค์ขับเคลื่อนนโยบาย SECA ไปสู่การปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจะตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงานติดตามกำกับและขับเคลื่อนการดำเนินงานทั้งส่วนกลางและระดับพื้นที่ และคัดเลือกหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นระดับจังหวัด ระดับเขตสุขภาพ และระดับประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบที่ดีให้กับหน่วยงานอื่นๆ ได้นำไปขยายผลต่อไป"