"สนพ." ปักหมุดติดตั้งปั๊มชาร์จ "EV" แบบเร็ว 2-4 พันสถานีปี 73

03 ก.ค. 2566 | 01:01 น.

"สนพ." ปักหมุดติดตั้งปั๊มชาร์จ "EV" แบบเร็ว 2-4 พันสถานีปี 73 เผยอยู่ระหว่างการเป็นแกนกลางความร่วมมือกับผู้พัฒนาและให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าพัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการปั๊มชาร์จเป็นแพลตฟอร์มกลาง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. อยู่ระหว่างการเป็นแกนกลางในความร่วมมือกับผู้พัฒนาและให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (ปั๊มชาร์จ) พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการปั๊มชาร์จเป็นแพลตฟอร์มกลางหรือ National EV Platform เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟของผู้บริโภคในการวางแผนรับมือการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV)

ทั้งนี้ แพลตฟอร์มกลางดังกล่าว จะรวบรวมแพลตฟอร์มของทุกค่ายมาไว้ที่เดียวทำให้เกิดการวางแผนการเดินทางระหว่างเมือง โดยผู้บริโภคจะได้รับรู้ว่ามีปั๊มในจุดใด รวมไปถึงสามารถจองคิวในการชาร์จได้อีกด้วย หากพัฒนาได้แล้วเชื่อว่าจะทำให้ผู้ใช้บริการมีมากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐเองก็จะได้รับรู้ถึงพฤติกรรมการชาร์จไฟของประชาชนในการวางแผนด้านไฟฟ้าและอื่นๆ รองรับ

ปัจจุบัน สนพ. ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เรื่องปั๊มชาร์จ EV โดยตั้งเป้าหมายในปี ค.ศ. 2030 หรือพ.ศ.2573 จะต้องมีปั๊มชาร์จแบบชาร์จเร็ว ในสัดส่วน 5% หรือประมาณ 2,000-4,000 สถานี

รวมทั้งต้องเตรียมด้านปริมาณไฟฟ้าเพื่อรองรับรถ EV จากความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลได้วางมาตรการส่งเสริม EV มาเป็นลำดับแม้ว่าขณะนี้ อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลใหม่บอร์ด EV ก็ยังคงเดินหน้าตามแนวทางที่วางไว้และเชื่อว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามาสานต่อเนื่อง

"แนวโน้มอีก 5-6 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนเป็นหลักและมีปริมาณมากเพราะการมาของ EV และคาดว่า 80% ของ EV จะชาร์จไฟฟ้าที่บ้านเพื่อการใช้งานมากกว่าในที่สาธารณะ" 

สำหรับนโยบายการส่งเสริมไฮโดรเจนของประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ Carbon Neutrality นั้น สนพ. ได้ศึกษามาแล้ว 2 ปีเพราะพลังงานสะอาดคงไม่จำกัดเฉพาะพลังงานหมุนเวียน (RE) เนื่องจาก RE มีจุดอ่อนคือความพึ่งพิงได้ โดย สนพ. ได้ศึกษารูปแบบไฮโดรเจนเพื่อนำมาใช้จริงในกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มโรงงานที่ใช้ความร้อน และภาคขนส่ง 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นเห็นว่าไทยควรใช้ระบบนำก๊าซธรรมชาติมาแยกออกซิเจนเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน ดังนั้น ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ (PDP) ฉบับใหม่จะมีสัดส่วนไฮโดรเจนเพื่อผลิตไฟฟ้า 20% จากเชื้อเพลิงทั้งหมด

ขณะนี้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กลุ่มเอสซีจี โตโยต้า ฯลฯ กำลังทำ White paper เรื่องนี้ อยู่ ทาง สนพ. เองก็เช่นกัน ซึ่งไทยวางแผนใช้ 20% ใน PDP ฉบับใหม่ก็ถือว่ายังน้อย แต่ไทยเองมีก๊าซธรรมชาติอยู่ สามารถใช้ท่อเดียวกันได้ แต่ในเรื่องของถังและคลังเก็บต้องลงทุนใหม่ ดังนั้นเบื้องต้นจะให้ภาครัฐเป็นผู้นำร่องกระบวนการเพื่อให้เกิดการใช้เชิงพาณิชย์ก่อน จากนั้นจะส่งเสริมภาคเอกชนต่อไป