OR ปูพรม โซลาร์รูฟท็อป 77 เมกะวัตต์ ดันขอคาร์บอนเครดิต

24 มิ.ย. 2566 | 01:06 น.

บริษัทปตท.นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้นำประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มาเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ

โดย OR (โออาร์)ได้กำหนดเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับการดำเนินงานปกติภายในปี 2573 และได้ตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050 (พ.ศ. 2593)

รายงานจาก OR ระบุว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ OR มีแผนขับเคลื่อน โดยมุ่งเน้นเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในสถานประกอบการ โดยการติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) ไม่ว่าจะเป็นคลังปิโตรเลียม กลุ่มโรงงานภายในศูนย์ธุรกิจไลฟ์สไตล์ สถานีบริการนํ้ามัน ( PTT Station) ร้าน Café Amazon และร้าน Texas Chicken ให้มากกว่า 22.18 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 2573

อีกทั้ง สนับสนุนให้ตัวแทน PTT Station และร้าน Café Amazon ติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทนการใช้ไฟฟ้า จำนวนมากกว่า 1,200 จุด คิดเป็นปริมาณกว่า 55 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 โดยปี 2565 ที่ผ่านมา OR ได้มีการติดตั้ง Solar Rooftop ในสถานประกอบการของ OR ขนาด 6.054 เมกะวัตต์ (MWp) ไปแล้ว ด้วยเงินลงทุนจำนวน 47.5 ล้านบาท ปัจจุบัน OR มีสถานีบริการ PTT Station อยู่ราว 2,168 แห่ง ร้าน Café Amazon 3,947 สาขา ร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ Jiffy ที่ OR เป็นเจ้าของ และแบรนด์ 7-Eleven 2,183 สาขา และร้าน Texas Chicken 104 สาขา คลังปิโตรเลียม 55 แห่ง เป็นต้น

พร้อมทั้งให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน (สถานีชาร์จ) สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ครอบคลุมทั่วประเทศ 7,000 หัวจ่าย ภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) จากปัจจุบันมีการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีชาร์จ EV Station PluZ แล้ว ทั้งหมด 452 สถานี ครอบคุลม 846 หัวจ่าย โดยในปี 2566 มีเป้าหมายจะติดตั้งให้ครอบคลุม 500 แห่ง ครอบคลุม 1,236 หัวจ่าย

OR ปูพรม โซลาร์รูฟท็อป 77 เมกะวัตต์ ดันขอคาร์บอนเครดิต

OR ชี้ให้เห็นว่า แผนการดำเนินงานดังกล่าว กำลังขับเคลื่อนอย่าต่อเนื่อง โดยในส่วนของการติดตั้ง Solar Rooftop ในปี 2566 มีแผนที่จะดำเนินขยายการติดตั้งอีกราว 300 แห่ง จากที่ดำเนินการแล้วประมาณ 100 แห่ง ทั้งในสถานีบริการรูปแบบสถานีบริการที่บริษัทเป็นเจ้าของและลงทุนเอง (COCO) และรูปแบบที่ขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุนมาดูแลบริหาร (DODO) เพื่อให้ครอบคลุมเครือข่ายอย่างหลากหลาย มุ่งเน้นไปยังสถานีบริการที่เปิดใหม่ สถานีบริการที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูง และสถานีบริการที่มี EV Station PluZ รวมถึงสถานีบริการรูปแบบ DODO ที่มีความสนใจลงทุน ซึ่งการลงทุนดังกล่าวอยู่ระหว่างการ พิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา OR ได้มีการติดตั้ง Solar Rooftop ในสถานประกอบการต่าง ๆ ไปแล้วราว 6.054 เมกะวัตต์(MWp) ด้วยเงินลงทุนจำนวน 47.5 ล้านบาท

สำหรับการลงทุนติดตั้ง Solar Rooftop นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแล้ว ยังสามารถที่จะนำผลของการดำเนินงานที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากการดำเนินกิจกรรมแล้ว หรือสามารถนำคาร์บอนที่ลดได้ไปจำหน่ายในตลาดที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตสร้างรายได้ให้กับบริษัทได้อีกทางหนึ่ง โดยผ่านการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

ทั้งนี้ จากการดำเนินงานติดตั้ง Solar Rooftop ดังกล่าว OR ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) กับ อบก.แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (ระยะที่ 1) โดยได้ติดตั้งบนหลังคาของอาคารในสถานีบริการนํ้ามัน 6 สาขา Café Amazon 7 สาขา และบริษัทคู่ค้านํ้ามันจำนวน 1 แห่ง รวม เป็น 14 แห่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1.63 MW ใช้เงินลงทุนราว 36.7 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ย 2,565,739 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยได้ 1,249 ตันต่อปี โดยมีระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 7 ปี ช่วงระยะเวลา 1 มกราคม 2565 -31 ธันวาคม 2571

รวมถึงโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (ระยะที่ 2) เป็นการติดตั้งบนหลังคาในโรงงานผลิตผงผสมคาเฟ่อเมซอนและศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจค้าปลีก ปตท. 1 แห่ง สถานีบริการของ OR 23 แห่ง คลังนํ้ามันและอาคาร 2 แห่ง คาเฟ่อเมซอน 8 แห่ง และบริษัทคู่ค้าของ OR อีก 2 แห่ง โดยติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ชนิด Mono-crystalline ขนาด 545, 540 และ 500 W จำนวนรวม 29,551 แผง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 15.96 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 395 ล้านบาท คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 18,831,832 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (kWh) ต่อปี ซึ่งจะช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยได้ 8,954 ตันต่อปี โดยมีระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 7 ปี ช่วงระยะเวลา 1 กรกฎาคม 2566-30 มิถุนายน 2573

ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการตรวจสอบจาก อบก.เพื่อรับรองคาร์บอนเครดิตต่อไป