Dow ผนึก กทม. ชูต้นแบบชุมชนเกาะกลางจัดการขยะครบวงจร

10 มี.ค. 2566 | 10:51 น.

Dow ผนึก กทม. ชูต้นแบบชุมชนเกาะกลางจัดการขยะครบวงจร เพื่อเป็นแนวทางการขยายผลไปยังเขตอื่นของ กทม. พร้อมออกคู่มือพ็อคเก็ตบุ๊คและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ แนะวิธีจัดการขยะชุมชนเมืองแบบยั่งยืนที่ทำได้จริง

นายสุพจน์ เกตุโตประการ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมสำนักงานเขตคลองเตย และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเกาะกลาง เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจรในพื้นที่คลองเตย 

ทั้งนี้ ล่าสุดได้จัดสัมมนา เกาะกลาง: ชุมชนแยกขยะสร้างประโยชน์ เพื่อขยายและส่งเสริมการจัดการขยะไปยังพื้นที่เขตอื่น ๆ ของ กทม.เพื่อเป็นแนวทางการขยายผลไปยังเขตอื่นของ กทม. รวมถึงออกคู่มือพ็อคเก็ตบุ๊คและหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) แนะวิธีจัดการขยะชุมชนเมืองแบบยั่งยืนที่ทำได้จริง

สำหรับการดำเนินการดังกล่าวนั้น ส่งเสริมแนวความคิด ชุมชนแยกขยะสร้างประโยชน์ โดยที่ครอบครัวตัวอย่างของชุมชนเกาะกลางที่เข้าร่วมโครงการนี้ และได้ปฏิบัติตามแนวทางการแยกขยะสามารถแสดงผลให้เห็นว่า ปริมาณขยะในครัวเรือนตัวอย่างลดลงได้มากกว่า 50% หรือมากถึง 4.9 ตันต่อปี 

ในปีที่ผ่านมาแม้จะอยู่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตัวเลขนี้เกิดขึ้นได้เพราะคนในชุมชนเข้าใจถึงคุณค่าของทรัพยากรประเภทต่าง ๆ สามารถนำขยะซึ่งคนทั่วไปมองว่าหมดประโยชน์แล้วกลับมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่า รายได้ และลดค่าใช้จ่ายภายในชุมชนได้มากถึง 107,400 บาทต่อปี 
 

ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวนี้หากทุกครัวเรือนร่วมมือกันในการแยกและสร้างประโยชน์ให้แก่ขยะ มูลค่าเพิ่มที่สร้างได้จากขยะยิ่งจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ซึ่งแนวความคิดและวิธีการสร้างมูลค่าเพิ่มเหล่านี้ได้ถูกบรรจุไว้ในหนังสือถอดบทเรียนการจัดการขยะครบวงจร “เกาะกลาง: ชุมชนแยกขยะสร้างประโยชน์” ซึ่งมีหลายวิธีการสร้างประโยชน์จากขยะที่ผู้อ่านสามารถเริ่มต้นทำได้เองที่บ้าน เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ในชีวิตประจำวันที่ใช้ประโยชน์ได้ 

Dowผนึกกทม. ชูต้นแบบชุมชนเกาะกลางจัดการขยะครบวงจร

ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการจัดการขยะครบวงจร เกาะกลาง: ชุมชนแยกขยะได้ประโยชน์ ตั้งอยู่ในชุมชนเกาะกลางซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ริมคลองพระโขนงใจกลางกรุงที่ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะอย่างครบวงจรในปี 2563 โดย Dow ร่วมกับสำนักงานเขตคลองเตย และสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIPMSE ได้ริเริ่มและดำเนินการระบบการจัดการขยะแยกตามประเภทโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบบริหารจัดการในชุมชน

ชาวชุมชนเกาะกลางมีจำนวน 56 ครัวเรือน มีประชากรทั้งสิ้น 230 คน อาศัยอยู่ในพื้นที่ขนาดเพียงแค่ 3 ไร่ แต่เดิมภาพของชุมชนถูกมองว่าเป็นชุมชนหลังคาติดกันที่เสื่อมโทรม และเป็นผู้ทิ้งขยะลงสู่แม่น้ำลำคลอง แต่ด้วยความตั้งใจจริงของสมาชิกในชุมชนตลอดระยะเวลาโครงการ 

ภาพลักษณ์ดังกล่าวได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เกาะกลางปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม มีจุดแยกขยะอย่างเป็นระบบ สามารถนำผลิตภัณฑ์จากขยะ อาทิ ก๊าซชีวภาพไปประกอบอาหารในชุมชนได้ถึง 720 ชั่วโมง ประหยัดค่าพลังงานได้ราว 9,600 บาทต่อปี 
 

ซึ่งนี่เป็นแค่ตัวอย่างบางส่วนของกิจกรรมการสร้างมูลค่าขยะของชุมชนเท่านั้น ยังมีการนำของขยะด้อยค่าอีกหลายประเภทไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนทั้งในแง่การจัดการขยะ ความสะอาด การได้ประโยชน์ใช้สอยจากผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เพิ่ม และประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังสร้างจิตสำนึกการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า จนสามารถเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่น ๆ เพื่อนำแนวคิดการใช้ประโยชน์จากขยะนี้ไปปรับใช้ให้สอดรับกับพื้นที่ของตนเอง 

DOW ได้ร่วมกับชุมชนในการเปลี่ยนแปลงแนวคิดขยะ สร้างความเข้าใจว่าขยะนั้นแท้จริงแล้วคือทรัพยากรที่มีคุณค่าถ้าเราใช้ เก็บ รีไซเคิล แลพัฒนาเพิ่มมูลค่าได้อย่างเหมาะสมโดยนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานคือ

  • สามารถแยกประเภทของขยะ และส่งต่อวัสดุรีไซเคิลประเภทต่าง ๆ เข้าสู่กระบวนการได้อย่างถูกต้อง 
  • เพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนจากการส่งต่อขยะพลาสติกประเภทต่าง ๆ ไปยังผู้รับซื้อวัสดุรีไซเคิล ทำให้พลาสติกเกือบทุกประเภทได้เข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง โดยในระยะเวลาเพียง 1 ปี ชุมชนเล็ก ๆ กลับสามารถนำส่งวัสดุรีไซเคิลเข้าสู่ระบบได้ถึง 7.09 ตัน ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการจัดการขยะพลาสติกที่เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าให้เข้าสู่ระบบการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม 
  • ทางโครงการได้สรุปแนวคิดและวิธีการต่าง ๆ เพื่อความสะดวกสำหรับส่งต่อให้แก่ชุมชนอื่นที่ต้องการจะจัดการขยะอย่างครบวงจรในลักษณะเดียวกันนี้ได้ นี่เป็นเพียงความสำเร็จจากการดำเนินงานเพียงไม่กี่ปีในชุมชนเล็ก ๆ แห่งเดียว หากทุกฝ่ายช่วยกันขับเคลื่อนและขยายผลไปยังชุมชนอื่น ๆ ย่อมเกิดผลสัมฤทธิ์ในวงกว้าง เพียงแค่พวกเราช่วยกันดำเนินงานตามหนังสือคู่มือ

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การผนึกกำลังกันระหว่าง กทม. Dow และชุมชน ถือเป็นอีกความร่วมมือที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จในการจัดการขยะที่เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้การรณรงค์ “ไม่เทรวม” ของ กทม. ซึ่งต้องการจะกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึกการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางในระดับครัวเรือน  

โดยจะส่งผลให้การจัดการขยะของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ในการแยกขยะแห้งที่ไม่ปนเปื้อน ลดภาระการล้างขยะ สามารถนำขยะเปียกไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าได้ง่ายขึ้น ขยะแต่ละประเภทถูกจัดการได้อย่างเหมาะสมตามชนิด ลดขยะที่ยังมีมูลค่าสู่หลุมฝังกลบซึ่งมีพื้นที่จำกัด ซึ่งจะส่งผลดีต่อกาจัดการพื้นที่และสิ่งแวดล้อมของกรุงเทพมหานครในอนาคต