"สุพัฒนพงษ์" โวลั่น ปตท. ถึงเป้า "Net Zero" ก่อนปี 2593

01 มี.ค. 2566 | 10:19 น.

"สุพัฒนพงษ์" โวลั่น ปตท. ถึงเป้า "Net Zero" ก่อนปี 2593 เผย ปตท.สผ. กำลังร่วมกับ กฟผ. ศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หาแหล่งกักเก็บคาร์บอนใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงาน PTT Group Tech & Innovation Day ภายใต้แนวคิด “Beyond Tomorrow: นวัตกรรมนำอนาคต” จัดโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ว่า ขณะนี้ กลุ่มปตท. โดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ศึกษาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หาแหล่งกักเก็บคาร์บอนใกล้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งมีศักยภาพ รวมถึงแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย และส่วนอื่น ๆ ของประเทศ ถือว่ามีศักยภาพทำให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ก่อนปี 2050 (พ.ศ.2593) แน่นอน

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ได้เริ่มหารือถึงเรื่องของทิศทางและโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยนั้นมีศักยภาพเพียงพอ แต่โอกาสของธุรกิจใหม่จะต้องเป็นเรื่องใหม่ และเป็นเรื่องที่เสี่ยง แต่การที่ปตท.ไม่ลังเลที่จะทำเรื่องใหม่ถือว่าดีและสามารถนำสิ่งใหม่กลับมาสร้างประโยชน์สู่ประเทศไทย และพัฒนาเสริมความแข็งแกร่งให้องค์กรและประเทศ

อย่างไรก็ตาม ด้วยวิธีที่ทำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาวิธีการ เรื่องใดที่ยาก ปตท.จะใช้วิธีหาผู้ร่วมทุน หาผู้ชำนาญ โดยสร้างและเริ่มใหม่ไปพร้อมกัน ซึ่งเรื่องของนวัตกรรมเทคโนโลยี ก่อนหน้านี้ปตท. มีมานานแล้ว โดยมีพัฒนาการที่ร่วมกันทั้งคู่ค้าและต่างชาติ 
 

และแสวงหาการรวมทุนกับบริษัทต่าง ๆ เพื่อนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลับมาที่ประเทศไทย โดยเชื่อว่า 3 ปีที่ได้วางรากฐานจะเป็นอัตราเร่งให้เกิดการเติบโตและเกิดธุรกิจในเชิงพาณิชย์มากขึ้น สร้างการเติบโตให้กับปตท. 

สุพัฒนพงษ์ ลั่น ปตท. ถึงเป้า Net Zero ก่อนปี 2593

"หากย้อนหลังกลับไปคนรุ่นเก่าก็ใช้ความกล้าหารทำในสิ่งใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แม้กระทั่งการจัดตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น วันนี้ประเทศไทยได้ประกาศเรื่องของเป้าหมายการปลดปล่อยคาร์บอน ที่มีการปล่อยหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ถือว่าไม่สูงเท่า เพราะไทยได้ใช้พลังงานสะอาด สานต่อการใช้วัฒนธรรมความกล้า สิ่งที่ต้องการให้เป็นกำลังใจกับปตท. คือการดำเนินธุรกิจจะว่าต่างจาก 30-40 ปี ที่เริ่มจากเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว แต่วันนี้คือเริ่มนวัตกรรมใหม่พร้อมกัน"
 
อย่างไรก็ดี การทำสิ่งใหม่พร้อมกัน จะทำให้ไทยอยู่แถวหน้าระดับสากล ระดับภูมิภาค นอกจากจะพัฒนาองค์กรให้เข้มแข็งแล้ว เชื่อว่าไทยมีศักยภาพ หากย้อนหลังตั้งแต่ปี 2553 ไทยโตช้ากว่าประเทศอื่น ยิ่งเจอวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ไทยใช้เม็ดเงินซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานมหาศาล เสียโอกาสในเรื่องของอุตสาหกรรมใหม่ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศจริง ไทยไม่ได้มีอุตสาหกรรมใหม่มาเพิ่มเติม ได้แต่ทำซ้ำ

"วันนี้ไม่สายเพราะกติกาโลกเปลี่ยน โลกให้ความสนใจสภาพแวดล้อมภูมิอากาศ ช่วงนี้อากาศเย็น แต่ก็กลัวว่าสภาวะภูมิอากาศแบบนี้จะทำให้การเพาะปลูกมีปัญหา หลายประเทศห่วงเรื่องของการขาดแคลนอาหาร จึงแทรกเรื่องของการขาดแคลนอาหารเข้าไปสนวาระสำคัญ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยได้ประกาศเป้าหมาย Net Zero ใหม่ ดังนั้น ปตท. ก็ต้องทำให้เร็ว ทำให้ถึงเป้าหมายในปี 2593 โดยร่วมกับหน่วยงายในสังกัดกระทรวงพลังงาน สภาอุตสาหกรรม พันธมิตรธุรกิจ ฯลฯ" 
 

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งสำคัญ คือ เทคโนโลยี อาทิ CCUS จากการเดินดูนิทรรศการของ ปตท. ได้เห็นสิ่งที่ทำและมีการเดินหน้า ต้องขอบคุณการตอบสนองนโยบายรัฐบาลของกลุ่มปตท. สิ่งที่ทำไม่ได้สร้างประโยชน์แค่ในองค์กร แต่เป็นประโยชน์ของประเทศ จะมีหลายประเทศให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทย ดังนั้น จึงเชื่อว่าจะทำได้เร็วกว่าปี 2593 ถ้าร่วมมือกันทำทุกวิธี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยี 

หากทำแล้วจะเกิดผลดี คือ 1.ทำให้เห็นว่าประเทศไทยอยู่แถวหน้า ประเทศได้ดูแลประชาชนด้วยความห่วงใย ,2.ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากฟอสซิล วันนี้มีการนำเข้าน้ำมันถึง 80-90% ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 30% อีกทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลกระทบ ดังนั้น หากแก้ปัญหาก็จะช่วยลดการพึ่งพาได้โดยใช้พลังงานสะอาดเข้ามาทดแทน
,3. เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ และเกิดการร่วมลงทุนอีกมากมาย ส่งผลให้ประเทศไทยเติบโตจากธุรกิจใหม่ เพราะขณะนี้ ประเทศไทยยังพึ่งพาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศถึง 30% จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ นักลงทุนย้ายฐานการผลิต ดังนั้น ไทยจะดึงกลับมา อาทิ กลุ่มแบตเตอรี่ จะสนับสนุนให้ให้อุตสาหกรรมยานยนต์กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตอีกครั้ง มุ่งสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลก

“หากทำด้วยความมุ่งมั่น การลงทุนในประเทศก็จะมากขึ้น จะเห็นว่าปี 2565 ที่ผ่านมายอดการขอจดทะเบียนลงทุนใหม่เริ่มจุดติดแล้วที่ 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งเราเคยทำสูงสุดที่ปีละ 1 ล้านล้านบาท ดังนั้น เป้าหมายคือ การทำให้ถึงจุดที่เคยสูงสุดในอดีต”