IRPC ทุ่มปีละ 7 พันล้าน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

17 ธ.ค. 2565 | 06:16 น.

ไออาร์พีซี ทุ่มปีละ 7.29 พันล้านบาท ขยายธุรกิจและแสวงหาธุรกิจใหม่ๆ ใน 5 กลุ่มธุรกิจหลัก สอดรับโมเดล BCG และ Climate Change ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ธุรกิจรีไซเคิล และเพิ่มพลังงานทางเลือก พร้อมเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซล รับมาตรฐานยูโร 5

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ไออาร์พีซี ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งเน้นความเข้มแข็งและความชำนาญในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจปัจจุบัน เพื่อการพัฒนาขยายธุรกิจ และแสวงหาธุรกิจใหม่ ๆ โดยผลักดันให้บริษัทฯ เติบโตได้ตามวิสัยทัศน์และพันธกิจใหม่ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นบริษัทนวัตกรรมวัสดุและพลังงานอย่างยั่งยืน (Material and Energy Solutions)

 

ควบคู่กับการให้ความร่วมมือกับคู่ค้า ลูกค้า และพันธมิตรธุรกิจ (JV, M&A, New S-curve, Start Up) สอดคล้องทิศทางของโลก ที่พร้อมสนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ชาติ ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) ของประเทศ ด้วยแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

 

รวมถึงรองรับการขยายตัวของสังคมเมืองและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้การบริหารงานอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน โดยใช้ความรู้ด้านนวัตกรรมและแสวงหาความร่วมมือกับหุ้นส่วนทางธุรกิจ ควบคู่กับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ตามกลยุทธ์ 3C ประกอบด้วย Climate Change, Circular Economy และ Creating Shared Value ในการสร้างความยั่งยืนให้องค์กร ผ่านการดำเนินงาน 5 กลุ่มธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ได้แก่

 

  • ธุรกิจ Health and Life Science

เป็นการลงทุนในวัสดุทาง การแพทย์และสุขอนามัย เช่น ผ้าไม่ถักไม่ทอ (non-woven fabric) ถุงมือทางการแพทย์ ธุรกิจ Advan ced Material วัสดุที่สร้างสรรค์โดยนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการ และการใช้ชีวิตของสังคมยุคใหม่ เช่น ซิงค์ออกไซด์นาโน (ZnO NANO) นวัตกรรมทางการเกษตร ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก ซิงค์ออกไซด์ (ZnO) ดำเนินการผลิตปุ๋ยภายใต้เครื่องหมาย การค้า รีอินฟอกซ์ ตราสินค้า ซีโอ-วัน (ปุ๋ยหมีขาว)

 

IRPC ทุ่มปีละ 7 พันล้าน สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน

  • ธุรกิจ Circular Business Circular Business

การมองหาโอกาสร่วมลงทุนกับ partnership ในการนำพลาสติกของเสียจากกระบวนการผลิตมาใช้ซํ้า หรือการนำวัสดุกลับมาใช้หมุนเวียน เพื่อสอดคล้องกับแนวคิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจรีไซเคิล และพลังงานทางเลือกต่าง ๆ

 

  •  ธุรกิจ Future Energy

การใช้พลังงานหมุนเวียนในเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC เช่น การลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยนํ้า  (Floating Solar) จากที่ผ่านมาได้ลงทุนระยะแรกไปแล้ว 12.5 เมกะวัตต์ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ HDPE ของบริษัท ผลิตแผง solar ซึ่งติดตั้งแผงบนผิวบ่อนํ้าสำรองของบริษัทเพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ใน PP plant และจะลงทุนเพิ่มอีกในระยะที่ 2 ขนาดกำลังผลิต 8.5 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมการก่อสร้าง

 

  • ธุรกิจEnergy Storage

เช่น ผลิตภัณฑ์ Acetylene Black for Li ion Battery และUHMWPE ส่วนประกอบแบตเตอรี่ในรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Separator) เป็นต้น

 

นายกฤษณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการลงทุนในระยะ 5 ปี (2023-2027) รวม 36,456 ล้านบาท ใช้ในการต่อยอดธุรกิจใหม่และเพิ่มมูลค่าธุรกิจปัจจุบัน โดยปี 2566 จะใช้เงินลงทุนราว 7 พันล้านบาท เน้นไปที่โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพนํ้ามันดีเซล หรือ Ultra Clean Fuel (UFC) ตามมาตรฐานยูโร 5 ให้แล้วเสร็จตามแผนที่จะเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ ในช่วงไตรมาสแรก ปี 2567 ขณะนี้ก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วที่ 54% จากเงินลงทุนโครงการรวมทั้งสิ้นประมาณ 13,300 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีอีก 4 โครงการหลักที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่จะแล้วเสร็จในปี 2567 ได้แก่ โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี สปันบอนด์ (PP Spunbond) 200,000 ตันต่อปี เพื่อรับกระแสการดูแลสุขภาพ ซึ่งมีกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศ ไร้สารทาเลตปลอดภัยต่อผู้บริโภค ที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)ในไตรมาส 4 ของปีนี้ และจะมีโครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เมลต์โบลน (PP Meltblown) 40,000 ตันต่อปี

 

โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพีอาร์ (PPR: PP random copolymer pipe) 80,000 ตันต่อปี ใช้ผลิตท่อนํ้าร้อนนํ้าเย็นชนิดทนทานพิเศษไร้สารทาเลตได้เป็นรายแรกของภูมิภาค และโครงการผลิตเม็ดพลาสติก เอชดีพีอี 100-อาร์ซี (HDPE 100-RC) 40,000 ตันต่อปี ใช้ผลิตท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความแข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานนานถึง 100 ปี

 

ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าวสอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ลง 20% ภายในปี 2030 จากปีฐาน 2018 และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2060