มัดรวมมาตรการพลังงาน"ลดค่าไฟ-ตรึงราคาดีเซล" อัปเดทล่าสุด

20 ธ.ค. 2566 | 03:49 น.

มัดรวมมาตรการพลังงาน"ลดค่าไฟ-ตรึงราคาดีเซล" อัปเดทล่าสุด หลัง ครม. มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอลดค่าครองชีพประชาชน ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไว้ให้เรียบร้อย

ลดค่าไฟ-ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาท เป็นมาตรการบรรเทาภาระค่อครองชีพให้กับประชาชนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติเห็นชอบล่าสุด

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับมาตรการทางด้านพลังงาน ประกอบด้วย

ลดค่าไฟงวด ม.ค.-เม.ย.67

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ค่าไฟงวดม.ค.-เม.ย.67 จะอยู่ที่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย จากเดิมที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.68 บาทต่อหน่วยก่อนหน้านี้

โดยการดำเนินการดังกล่าวที่ประชุม ครม.มีมติให้ปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 

นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระเงินคงค้างสะสม (AF) สำหรับงวดเดือนม.ค.-เม.ย. 67 แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อน 

มัดรวมมาตรการพลังงาน"ลดค่าไฟ-ตรึงราคาดีเซล" อัปเดทล่าสุด

ส่วนบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะมีการทบทวนสมมติฐานปริมาณและราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าไฟฟ้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และจะมีการนำส่วนลดค่าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 4,300 ล้านบาทจากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของผู้ผลิต (Shortfall) ในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2565 มาช่วยลดราคาก๊าซธรรมชาติในรอบนี้ด้วย 

"จากมาตรการดังกล่าวทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.67 จะอยู่ที่ไม่เกิน 4.20 บาทต่อหน่วย"

ขณะที่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือนจะได้รับส่วนลดเพิ่ม 21 สตางค์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 17 ล้านครัวเรือน จะจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิมคือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยในส่วนนี้จะใช้งบกลางในการบริหารคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 1,950 ล้านบาท 

ตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาท

การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรจะหมดอายุลงวันที่ 31 ธ.ค.66 ตามมติเดิม โดย ครม.ได้มีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 

ซึ่งกระทรวงพลังงานจะหารือกับกระทรวงการคลังในการบริหารจัดการด้านราคา ใช้กลไกของภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ตรึงราคาก๊าซหุงต้นครัวเรือน

ส่วนราคาก๊าซหุงต้มที่ประชุมก็ได้มีมติให้ตรึงราคาที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เป็นระยะเวลา 3 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดมาตรการวันที่ 31 ธ.ค. 67 เช่นเดียวกัน

โดย ครม.อนุมัติให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 โดยบริหารผ่านกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง