ย้อนรอย "เอสโซ่" ปิดตำนานจับเสือใส่ถังพลังสูงก่อนบางจากเทกโอเวอร์

31 ส.ค. 2566 | 02:36 น.

ย้อนรอย "เอสโซ่" ปิดตำนานจับเสือใส่ถังพลังสูงก่อนบางจากเทกโอเวอร์ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมข้อมูลจากเว็บไซต์เอสโซ่ที่เผยแพร่ออกมา เผยยอดกำลังการกลั่นน้ำมันบางจากสูงสุดเป็นที่หนึ่งของไทย

บิ๊กดีลขนาดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 66 เมื่อบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ประกาศซื้อหุ้นสามัญของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (เอสโซ่) จาก ExxonMobil Asia Holdings Pte. Ltd. (ExxonMobil) 

 โดยเบื้องต้นเป็นการเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วน 65.99% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ "เอสโซ่" จาก ExxonMobil โดยมีมูลค่ากิจการ 55,500 ล้านบาท และมีกลไกการปรับราคาซื้อขายหุ้นตามที่ระบุในสัญญาซื้อขายหุ้น 

หากอ้างอิงตามงบการเงินสอบทานในไตรมาส 3/2565 ของเอสโซ่ จะได้ราคาเบื้องต้นประมาณ 8.84 บาทต่อ 1 หุ้น (คาดใช้เงินเบื้องต้นราว 20,188 ล้านบาท จากสัดส่วนหุ้น 65.99% ที่ถือโดย ExxonMobil) โดยราคาสุดท้ายจะมีการปรับตามเงื่อนไขที่ตกลงไว้ และเตรียมพร้อมทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมด (tender offer) ของเอสโซ่ หลังจากการทำธุรกรรมกับ ExxonMobil เสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2566

ล่าสุดเว็บไซต์ esso.co.th ได้เปิดเผยประวัติบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลในประเทศไทย ประกอบด้วย 

  • พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก เปิดสาขาในประเทศไทยที่ตรอกกัปตันบุช (ซอยเจริญกรุง 30) จำหน่ายน้ำมันก๊าดตราไก่ และตรานกอินทรี
  • พ.ศ. 2474 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์แห่งนิวยอร์ก และบริษัท แว๊คคั่มออยล์ ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท โซโกนีแว๊คคั่ม คอร์ปอเรชั่น และจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่นตรา “การ์กอยส์”
  • พ.ศ. 2476 ร่วมทุนกับบริษัทแสตนดาร์ดออยส์ (นิวเจอร์ซีย์) และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท สแตนดาร์ดแว๊คคั่มออยล์ จำกัด ใช้เครื่องหมายการค้า “ม้าบิน”
  • พ.ศ. 2490 รับชื้อกิจการคลังน้ำมันช่องนนทรีจากกรมเชื้อเพลิงมาดำเนินการ
  • พ.ศ. 2505 เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด อีสเทอร์น จำกัด ในวันที่ 1 เมษายน 2505 และเปลี่ยนแปลงเครื่องหมายการค้าจาก “ตราม้าบิน” มาเป็น “ตราเอสโซ่” ในวงรีรูปไข่
  • พ.ศ. 2508 เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บริษัท เอสโซ่ แสตนดาร์ด ประเทศไทย จำกัด
  • พ.ศ. 2510 ซื้อโรงงานจาก บริษัท ยางมะตอยไทย เพื่อจัดตั้ง โรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ ศรีราชา

 

บางจากเทกโอเวอร์เอสโซ่ปิดตำนานปั๊มตราเสือ

  • พ.ศ. 2514 ขยายโรงกลั่นครั้งแรก เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 35,000 บาร์เรลต่อวัน
  • พ.ศ. 2515 ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเลขที่ 1016 ถนนพระราม 4 ตรงข้ามสวนลุมพินี (ปัจจุบันคือ อาคารศรีเฟื่องฟุ้ง)
  • พ.ศ. 2519 ขยายโรงกลั่น ครั้งที่ 2 เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 46,000 บาร์เรลต่อวัน
  • พ.ศ. 2522 จัดตั้งบริษัท เอสโซ่ เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ โดยได้รับสัมปทานการสำรวจและขุดเจาะหาพลังงานบนแหล่งที่ราบสูงโคราช และพบก๊าซธรรมชาติที่หลุมน้ำพอง จ.ขอนแก่น ภายหลังบริษัทฯ เปลี่ยนชื่อเป็น เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์
  • พ.ศ. 2528 ขยายโรงกลั่นเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 63,000 บาร์เรลต่อวัน
  • พ.ศ. 2534 ได้รับการอนุมัติให้ขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ศรีราชาเป็น 185,000 บาร์เรลต่อวัน และร่วมมือกับบริษัทน้ำมันชั้นนำต่างๆ จัดตั้ง บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด เพื่อวางท่อขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นศรีราชาไปยังลำลูกกา ดอนเมือง และสระบุรี
  • พ.ศ. 2539 เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • พ.ศ. 2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตราครุฑ แก่บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และเริ่มการก่อสร้างโรงงานอะโรเมติกส์ในบริเวณโรงกลั่นน้ำมัน เอสโซ่ศรีราชา
  • พ.ศ. 2544 ได้มาซึ่งกิจการของบริษัท โมบิลออยล์ไทยแลนด์ จำกัด และดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
  • พ.ศ. 2545 จัดตั้งบริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัด เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือเอ็กซอนโมบิลทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
  • พ.ศ. 2546 จัดตั้งศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพอย่างเป็นทางการ
  • พ.ศ. 2551 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • พ.ศ. 2554 บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ฉลองความสำเร็จ โครงการน้ำมันสะอาด ด้วยเงินลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท
  • พ.ศ. 2557 ดำเนินกิจการในประเทศไทยครบรอบ 120 ปี และปรับโฉมสถานีบริการน้ำมันรูปแบบใหม่
  • พ.ศ. 2562 เปลี่ยนชื่อ ศูนย์บริการธุรกิจกรุงเทพ เป็น ศูนย์บริการธุรกิจระดับโลก พร้อมฉลองการดำเนินกิจการในประเทศไทย ครบ 125 ปี

ทั้งนี้ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2551 ราคาไอพีโอ 10 บาท ราคาพาร์ 4.9338 บาท จำนวนหุ้นจดทะเบียน ณ วันที่ 11 ม.ค. 2566 จำนวน 3,460.86 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด 38,415.52 ล้านบาท 

สำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยวันที่ 17 มี.ค. 2565 จำนวน 20,310 ราย คิดเป็นสัดส่วน 34.01% 

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 รายแรก ประกอบด้วย

  • EXXONMOBIL ASIA HOLDINGS PTE. LTD. 2,283,750,000 หุ้น คิดเป็น 65.99%
  • บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด 322,627,820 หุ้น คิดเป็น 9.32%
  • กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) 128,610,450 หุ้น คิดเป็น 3.72%
  • กองทุนรวม วายุภักษ์หนึ่ง โดย บลจ.กรุงไทย จำกัด (มหาชน) 128,610,450 หุ้น คิดเป็น 3.72%
  • SOUTH EAST ASIA UK (TYPE C) NOMINEES LIMITED 58,926,277 หุ้น คิดเป็น 1.70%
  • กองทุนเปิด บัวหลวงหุ้นระยะยาว 29,505,500 หุ้น คิดเป็น 0.85%
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทิสโก้มาสเตอร์ร่วมทุน ซึ่งจดทะเบียนแล้ว 27,704,900 หุ้น คิดเป็น 0.80%
  • กองทุนเปิด ทิสโก้สแตรทิจิก ฟันด์ 26,500,000 หุ้น คิดเป็น 0.77%
  • นาย ชาญ โสภณพนิช 14,680,000 หุ้น คิดเป็น 0.42%
  • SE ASIA (TYPE B) NOMINEES LLC 12,797,540 หุ้น คิดเป็น 0.37%

ด้านผลประกอบการไตรมาส 3/2565 มีสินทรัพย์รวม 95,817.10 ล้านบาท หนี้สินรวม 67,035.62 บาท รายได้รวม 199,380.76 ล้านบาท กำไรสุทธิ 11,071.70 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี จากการลงทนครั้งดังกล่าวนี้ของบางจากจะทำให้สินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องจาก "เอสโซ่" ได้แก่ โรงกลั่นน้ำมันกำลังการกลั่น 174,000 บาร์เรลต่อวัน เครือข่ายคลังน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 700 แห่ง 

โดยจะทำให้บางจากฯ มีกำลังการกลั่นน้ำมันรวม 294,000 บาร์เรลต่อวัน และเครือข่ายสถานีบริการกว่า 2,100 แห่ง 

ส่งผลให้บางจากฯจะมีกำลังการกลั่นน้ำมันสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย