"ปตท." รับมือสถานการณ์วิกฤตพลังงาน-ราคาน้ำมันแพงอย่างไร ดูเลย

18 ต.ค. 2565 | 01:15 น.

"ปตท." รับมือสถานการณ์วิกฤตพลังงาน ราคาน้ำมันแพงอย่างไร ดูเลยที่นี่มีคำตอบ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์พลังงานและการแก้ไขปัญหาเรื่องของวิกฤตพลังงานในประเทศภายหลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส (OPEC+) มีมติปรับลดกำลังผลิตน้ำมันลงครั้งใหญ่ ว่า ปัจจุบันมีการบูรณาการร่วมกันหลายภาคส่วน โดย ปตท. เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปช่วยสนับสนุน ซึ่งปัจจุบันราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ค่อนข้างสูง จึงพยายามที่จะลดการใช้งานลงให้ได้มากที่สุด เช่น การใช้น้ำมัน 

 

ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมการเรื่องของการจัดการทรัพยากรให้เพียงพอ เหมาะสม ทั้งการทำงานของโรงกลั่น การขนส่ง เพื่อให้ใช้ LNG น้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาจากการร่วมงานกันกับกระทรวงพลังงานสามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ลงไปได้มาก 
 

ขณะที่เรื่องของคลังจัดเก็บนั้น  แม้ว่าเวลานี้จะยังไม่ได้ใช้เต็มประสิทธิภาพเท่าที่ควร  เพราะราคาพลังงานยังแพง ดังนั้นการใช้น้อยที่สุดถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เชื่อว่าราคา LNG จะไม่แพงตลอดไป และราคายังเป็นขาขึ้น แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งราคาจะต้องปรับตัวลดลง

 

ปตท.รับมือสถานการณ์วิกฤตพลังงานอย่างไร

 

อย่างไรก็ดี การที่ประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือคลังรองรับพร้อมถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเพิ่มทางเลือก ซึ่งเรามีโรงกลั่น มีแหล่งก๊าซในอ่าว มี LNG นำเข้า โดยคลังเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ตามสภาวะ 

ทั้งนี้ หากถามว่าต้องชะลอคลัง 3 (มาบตาพุด) หรือไม่นั้น ตอนนี้ยังมองว่าก๊าซยังสามารถเติบโตได้ ซึ่งก๊าซเป็นไฮโดรคาร์บอนที่ก่อมลพิษน้อยที่สุด และมีสิ่งอำนวยความสะดวกพร้อมอยู่แล้วในโลก ส่วนน้ำมันนั้นการที่โอเปกพยายามลดกำลังการผลิต ซึ่งส่งผลทำให้น้ำมันมีราคาสูง แต่เศรษฐกิจที่ชะลอตัวกลับทำให้ความต้องการน้อยลง ส่งผลต่อราคาลดลงตามไปด้วย 

 

โดยทั้ง 2 ปัจจัยส่งผลทำให้ราคาน้ำมันผันผวน อย่างไรก็ดีต้องเรียนว่าเรื่องของราคาน้ำมันสามารถปรับขึ้นลงได้ ปตท. เองก็พยายามติดตามอย่างใกล้ชิดทุกเดือน

 

ส่วนสถานการณ์ราคาพลังงานปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบปีหน้าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 85-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าปีนี้ที่คาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 90-100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

อย่างไรก็ตาม ปตท.ยืนยันมีแผนสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ โดยการสต็อกน้ำมันตามกฎหมายในช่วงที่สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนมีความรุนแรงเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมาประมาณ 4 ล้านบาร์เรล ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการทยอยนำออกมาใช้ เพราะมองว่าปัจจัยเรื่องของการขาดแคลนคงจะไม่เกิดขึ้น