ผ่าเงื่อนไข “กสทช.” สนับสนุนเงิน 600 ล้านถ่ายทอดสดบอลโลก

08 ธ.ค. 2565 | 09:26 น.

สรุปเงื่อนไข “กสทช.” สนับสนุนเงิน 600 ล้านบาท ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้กับ “กกท.” หลังมติบอร์ด กสทช.มีเอกฉันท์ทวงเงินคืน

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 จากกรณีที่ มติบอร์ด กสทช. ลงคะแนนเสียงเอกฉันท์ 6:0  ในวันนี้ ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท  ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022  (รอบสุดท้าย) หลังจากมีปัญหาโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก IPTV  “จอดำ” และ จานดำ กว่า 8 แสนรายไม่สามารถรับชมถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ได้นั้น ทั้งๆ ที่ กสทช.และ กกท.ได้ทำ MOU  หรือบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

 

ผ่า MOU 

ทั้ง กสทช. และ กกท.ได้ทำการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 กับ กกท. เมื่อวันที่ 14  พ.ย. โดยใน MOU ระบุชัด ว่า วัตถุประสงค์ของ กสทช. ในการมอบเงินสนับสนุนให้กับ กกท. ที่ว่า ผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ที่อยู่ในการกากับดูแลของ กสทช. ทุกประเภท (ณ ที่นี้ หมายรวมถึงผู้ประกอบการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก  IPTV ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.  มีดังนี้

  • บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์  เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN 
  • บริษัท ทรี บีบี ทีวี จำกัด ผู้ให้บริการกล่อง 3BB GIGA TV 
  • และ บริษัท โทรคมนาคม แห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

 

แต่สุดท้าย กกท.ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ซึ่งสนับสนุนมากสุด จำนวน 300 ล้านบาท ได้ยื่นฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ออกคำสั่งคุมครองชั่วคราวไม่ให้ บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ SBN บริษัท ในเครือ แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS  ผู้ให้บริการ AIS PLAY BOX ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก (World Cup Final 2022) ผ่านโครงข่าย IPTV เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายลิขสิทธิ์ทันที

 

ยันไม่ผิดกฎ Must Carry  

ล่าสุด ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ การกีฬาแห่งประเทศไทย ได้ออกมาชี้แจงเรื่องมติเอกฉันท์ของ กสทช. ว่า  กกท .ยืนยันว่าไม่ได้ทำผิดกฎ Must Carry  แต่อย่างใด และส่งสัญญาณถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ให้ทุกคนได้ดูแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายตามกฎ Must Have ได้ทำหนังสือแย้งกลับไปที่ กสทช.แล้ว  ซึ่งในกฎของ Must Carry ได้เขียนเอาไว้ว่าทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ด้วย ซึ่งศาลได้วินิจฉัยกรณีข้อพิพาทระหว่าง AIS กับ TRUE โดยคำสั่งศาลได้กล่าวถึงการกีฬาแห่งประเทศไทยและ กสทช. ที่ดำเนินการถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้ประชาชนได้ดูฟรีตามช่องทางต่าง ๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะ IPTV เท่านั้น ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ Must Carry แล้ว

 

"คำสั่งศาลเขียนไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นการดำเนินการของ กกท.อยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของคำสั่งศาล ไม่ได้ไปละเมิดอะไร"  

ใครเป็นใครสนับสนุนบอลโลก

ค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 รวมทั้งสิ้น 1,400 ล้านบาทรวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว แบ่งเป็นผู้สนับสนุนลิขสิทธิ์ดังนี้

  •  กองทุน กทปส. สนับสนุนลิขสิทธิ์บอลโลก 2022 จำนวน 600 ล้านบาท

ภาคเอกชน ประกอบด้วย

  • บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 300 ล้านบาท
  • น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง จำนวน 100 ล้านบาท
  • บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 100 ล้านบาท
  •  บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ จำนวน 20 ล้านบาท
  • บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)  จำนวน 20 ล้านบาท
  •  บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) จำนวน  10 ล้านบาท
  •  บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน)  จำนวน 50 ล้านบาท
  •  ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 50 ล้านบาท
  • บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 50 ล้านบาท.