ปชป.เปิดเวทีชำแหละกฎ Must Carry เปิดช่องแทรกแซง ไทยซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกแพง

20 พ.ย. 2565 | 10:35 น.

ปชป.เปิดเวทีชำแหละซื้อ “ลิขสิทธิ์บอลโลก” นักวิชาการฉะกสทช.อนุมัติจ่ายเงิน "กทปส." ไม่สอดคล้องวัตถุประสงค์-อำนาจหน้าที่ ด้าน "มาดามเดียร์" ชี้กฎ Must Carry เปิดช่องแทรกแซงการตลาด ไทยซื้อลิขสิทธิ์แพง


วันนี้(20 พ.ย.65) ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) คณะยุทธศาสตร์ กรุงเทพมหานคร ได้จัดเสวนา "ดูบอลโลกในไทย ทำไมเป็นแบบนี้?” โดยมี นายองอาจ คล้ามไพบูลย์  รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ กทม. พร้อมด้วย มาดามเดียร์ - วทันยา บุนนาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะทำงานนวัตกรรมการเมืองกรุงเทพมหานคร นายอภิมุข ฉันทวานิช อดีต ส.ก. ของพรรค นายเขมทัตต์ พลเดช อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. อสมท. นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมการเสวนาดังกล่าว และมี นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดำเนินรายการ 


นายองอาจ กล่าวเปิดงานเสวนาโดยการเชิญชวนให้ผู้ฟังร่วมตั้งคำถามไปพร้อม ๆ กับผู้ร่วมเสวนาว่าการดำเนินการเรื่อง “ลิขสิทธิ์บอลโลก” ที่ผ่านมาก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดคำถามมากมายหลายประการ ทั้ง ๆ ที่ควรจะเป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เพราะสามารถรู้ล่วงหน้าได้ 4 ปี เหตุใดการซื้อลิขสิทธิ์ในคราวนี้จึงมีปัญหาแตกต่างจากทุกครั้ง


นายไพศาล ตั้งข้อสังเกตว่า ในต่างประเทศจะให้ภาคเอกชนเป็นองค์กรหลักในการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก อย่างในเกาหลีใต้มี Star Hub และสิงคโปร์มี Singtel ซึ่งเป็นภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งมีทั้งแบบ Pay Per View และดูฟรีบางแมทช์


จึงตั้งคำถามว่า ทำไมประเทศไทย จึงให้หน่วยงานภาครัฐอย่าง กสทช. ซึ่งมีกองทุน กทปส. และ USO ส่วนการกีฬาแห่งประเทศไทย(กกท.) มีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ เข้ามามีบทบาทในการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกได้ ทั้ง ๆ ที่ควรจะทำหน้าที่เป็น Regulator และสนับสนุนการพัฒนากีฬาของชาติ ในฐานะนักกฏหมาย เมื่อดูอำนาจหน้าที่ของกองทุนดังกล่าวตามรายมาตรา ก็ไม่พบว่า เกี่ยวข้องกับการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกแต่อย่างใด


ดังนั้น การอนุมัติจ่ายเงิน “กองทุนกทปส.” เพื่อได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ของกรรมการ กสทช. จึงน่าจะขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุนดังกล่าว และไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่


ด้าน นางสาววทันยา ชี้ว่า ปัญหาทั้งหมดเกิดขึ้นจากกฎ Must Carry หรือ Must Have ที่ กสทช. ออกเป็นกฎไว้หลังจากการประมูลทีวีดิจิทัล ที่ต้องการประชาชนสามารถเข้าถึงรายการถ่ายทอดสดเวทีสำคัญระดับชาติ โดยไม่ถูกปิดกั้นจากเจ้าของผู้ประมูลลิขสิทธิ์เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในสมัยฟุตบอลโลกปี 2014 แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลายเป็นว่ากฎ Must Carry นั้นบิดเบือน แทรกแซงกลไกตลาดในการซื้อขายลิขสิทธิ์


ทั้งนี้เป็นที่ทราบว่า มูลค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดรายการนั้น แปรผันตามฐานจำนวนผู้ชม ยิ่งมีคนดูมากค่าลิขสิทธิ์ก็ย่อมแพงขึ้น และกีฬาฟุตบอลโลกนั้น มีมูลค่าทางการตลาดสูง ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการซื้อลิขสิทธิ์ ซึ่งเงินจากทั้ง 2  กองทุน ถือเป็นการใช้ภาษีของประชาชนทุกคนทางอ้อม 
การซื้อลิขสิทธิ์ควรเป็นเรื่องธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านการตลาด และการถ่ายทอดสดมากกว่า ภาครัฐจึงไม่ควรแทรกแซงเพราะทำให้กลไกการตลาดบิดเบือน 


“ไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 ของไทยจึงได้แพงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน หากยังแก้ไขปัญหาแบบนี้ ก็คงไม่ต่างจากขว้างงูไม่พ้นคอ ด้วยการออกกฎ Must Carry ปกป้องประชาชน แต่สุดท้ายก็ต้องนำเงินประชาชนมาใช้อยู่ดี 


แถมยังกลายเป็นของหวานให้ต่างชาติรีดเงินเพิ่ม และที่สำคัญแม้จะมีข้อสรุปว่า ประเทศไทยสามารถถ่ายทอดฟุตบอลโลกได้แล้ว ก็ต้องมาดูเรื่องความเป็นธรรมในการจัดสรรแมทช์การถ่ายทอด ให้กับทีวีดิจิตัลช่องต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน” นางสาววทันยา กล่าว

                             

ด้านนายเขมทัตต์ กล่าวว่า ฟุตบอลโลกเป็นกีฬา 1 ใน 3 ประเภท ที่มีผู้นิยมติดตามชมมากที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกที่ 4 ปีถึงจะวนกลับมาหนึ่งครั้ง สามารถเข้าถึงคนได้ทุกเพศทุกวัย และมีมูลค่าที่สูงเป็นพิเศษ เมื่อเทียบกับรายการถ่ายทอดประเภทอื่น ๆ  ซึ่งฟีฟ่าจะมีตัวกลางทำหน้าที่ในการเจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ในรูปแบบเชิงพาณิชย์


ดังนั้น ควรจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด กสทช. ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่และแก้ไขกฏระเบียบ รวมทั้งพัฒนาให้ทันเทคโนโลยีในทุกแพลตฟอร์ม เพื่อให้ผู้ได้รับลิขสิทธิ์สามารถวางแผนการถ่ายทอดสดได้ 


“ในกรณีของไทยที่มีกฎ Must Carry ทำให้เจ้าของธุรกิจไม่อยากเข้าไปลงทุนเพราะไม่คุ้มค่า เนื่องจากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดไม่สามารถนำไปหารายได้เพื่อทำกำไร เพราะไม่ได้สิทธิ์แบบ Exclusive เมื่อเป็นเช่นนี้จะไม่มีช่องโทรทัศน์ หรือ เจ้าของแพลตฟอร์มรายใดอยากเข้าไปประมูลลิขสิทธิ์ เพราะไม่ได้ประโยชน์แถมมีโอกาสขาดทุนชัดเจน” 


ทางด้าน นายอภิมุข กล่าวว่า แฟนบอลส่วนใหญ่รู้สึกว่าต้องได้ดูบอลโลก แต่ทำไมปีนี้ต้องรอลุ้นจนถึงนาทีสุดท้ายว่าจะได้ดูหรือไม่


“ปีนี้เป็นปีที่ฟุตบอลโลกเงียบเหงาที่สุด ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ผับ บาร์ ไม่มีการตกแต่ง หรือ จัดกิจกรรมเหมือนครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา ทั้ง ๆ ที่การแข่งขันเกิดขึ้นในทวีปเอเชีย”

 

นายอภิมุข กล่าวด้วยว่า ในช่วงระหว่างรอฟังผลว่า จะได้ดูการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกหรือไม่ ได้กลายเป็นการเปิดช่องให้ “เว็บพนันออนไลน์” อีกทั้งนักพนันแบบขาจรกว่าหนึ่งล้านคน ซึ่งเป็นเยาวชนที่สมัครสมาชิกไปแล้วเข้ามาในเว็บมากขึ้น แม้จะมีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวีแล้วก็ตาม แต่เยาวชนก็ยังสามารถเข้าไปดู หรือ เล่นการพนันได้อยู่ดี ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง