เปิดแนว มอเตอร์เวย์ 9บางขุนเทียน -บางบัวทอง  56,035 ล้าน แก้รถติด บูมทำเลทอง

06 ธ.ค. 2567 | 06:29 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2567 | 07:13 น.

เปิดแนวเส้นทาง จุดขึ้น-ลง จุดเชื่อมต่อ 14 แห่ง มอเตอร์เวย์ 9บางขุนเทียน -บางบัวทอง ยาว 38 กิโลเมตร 56,035 ล้านแบ่งเบาจราจร แก้รถติด บูมทำเลทอง  กรมทางหลวงเดินหน้า PPP หลัง ครม.ไฟเขียวปลายปี 68 ลงนามสัญญา ปี 69 ใช้เวลาก่อสร้าง4ปี จุดพลุเศรษฐกิจหมุนเวียน การจ้างงาน 2แสนล้านบาท

 

 

กรณี มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วัน3 ธันวาคม 2567 เห็นชอบ โครงการก่อสร้าง ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) M9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตอน ทางยกระดับบางขุนเทียน –บางบัวทอง ของกรมทางหลวง ทางยกระดับ ขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 35.85 กิโลเมตร คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในปลายปี 2568 และจะลงนามสัญญาร่วมลงทุนได้ในปี 2569นั้น

มอเตอร์เวย์9

 

อย่างไรก็ตามนอกจากช่วยการสัญจรให้เกิดความคล่องตัวแล้ว ยังเปิดทำเลทองใหม่บริเวณจุดขึ้นลงโครงการในโซนด้านใต้และตะวันตกของกรุงเทพมหานคร  ขยายการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ราคาที่ดินโดยรอบปรับขึ้น

ทั้งนี้รูปแบบการให้สัมปทานเอกชน หรือ PPP Net Cost มีระยะเวลาสัญญาไม่เกิน 34 ปี (ก่อสร้าง 4 ปี และ ดำเนินการและบำรุงรักษา หรือ O&M 30 ปี) โดยมีวงเงินลงทุนโครงการฯ ประมาณ 56,035 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนที่ภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบคือค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,235 ล้านบาท และเงินลงทุนของภาคเอกชน จำนวน 51,782 ล้านบาท ประกอบด้วยการก่อสร้างงานโยธา งานระบบตลอดทั้งสายทาง

สำหรับมอเตอร์เวย์ 9 เป็นหนึ่งในโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางบนถนนกาญจนาภิเษกประสบปัญหาจราจรติดขัด

มอเตอร์เวย์9

ช่วงตั้งแต่ตั้งแต่บางขุนเทียน –ตลิ่งชัน-บางใหญ่-บางบัวทอง โดยเฉพาะช่วงบางใหญ่–บางขุนเทียน มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ 2 ข้างทางอย่างหนาแน่น ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรอย่าคับคั่ง โดยคาดว่า มอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บางบัวทอง จะช่วยแบ่งเบาการจราจรหนาแน่นได้อย่างดี 

มอเตอร์เวย์9

แนวเส้นทาง มอเตอร์เวย 9 ทางยกระดับสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ช่วงบางขุนเทียน - บางบัวทอง หรือ M9 มีจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณทางแยกต่างระดับบางขุนเทียนเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ด้านทิศใต้, ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายบางขุนเทียน – บ้านแพ้ว และทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครแนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ

แนวเส้นทางM 9

ผ่านทางรถไฟสายแม่กลอง มีทางขึ้น – ลง พระราม 2 ทางขึ้นเชื่อมกับถนนเอกชัย ถนนกัลปพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม ถนนพรานนก-พุทธมณฑลสาย 4 ถนนบรมราชชนนี ทางพิเศษศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร และถนนนครอินทร์ ทางแยกต่างระดับบางใหญ่เชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 81 สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี

จากนั้นแนวเส้นทางทางขนานไปกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงผ่านสถานีตลาดบางใหญ่ สถานีคลองไผ่ บางบัวทอง และสิ้นสุดโครงการบริเวณห่างจากทางแยกต่างระดับบางบัวทองประมาณ 1 กิโลเมตร รวมระยะทางประมาร 38 กิโลเมตร

โดยตลอดสายทางมีจุดขึ้น-ลง/จุดเชื่อมต่อ จำนวน 14 แห่ง ดังนี้

1) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน

2) จุดขึ้น-ลงพระราม 2

3) จุดขึ้นเอกชัย

 

4) จุดขึ้นกัลปพฤกษ์

5) จุดขึ้น-ลงเพชรเกษม

6) จุดขึ้น-ลงพรานนก-พุทธมณฑล

7) จุดขึ้น-ลงบรมราชชนนี

8) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบรมราชชนนี

 

9) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับศรีรัช

10) จุดขึ้น-ลงนครอินทร์

 

11) จุดขึ้น-ลงบางใหญ่

12) จุดเชื่อมต่อทางแยกต่างระดับบางใหญ่

 

13) จุดขึ้น-ลงบางบัวทอง

 

14) จุดเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน

 

2. รูปแบบการก่อสร้าง เป็นทางยกระดับอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก ระยะทางรวมทั้งโครงการประมาณ 38 กิโลเมตร มีขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) กว้างช่องจราจรละ 3 เมตร ไหล่ทางด้านซ้าย กว้าง 2 เมตร ไหล่ทางด้านขวากว้าง 1 เมตร

 

3. การจัดเก็บค่าผ่านทาง การจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง กรมทางหลวงได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบปิด (Closed System) ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมตามระยะทางที่ใช้จริง โดยกรมทางหลวงจะกำหนดให้มีวิธีการจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งแบบเงินสด (Manual Toll Collection : MTC) และแบบอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection : ETC ) ซึ่งสามารถพัฒนาสู่ระบบให้เป็นแบบ (Multi-lane-free flow) หรือ M-Flow

ทั้งนี้ เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะส่งผลให้การเดินทางเชื่อมโยงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเข้ากับพื้นที่ภูมิภาคโดยรอบ รวมถึงเติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษ/ทางพิเศษให้สมบูรณ์ ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ทำให้เกิดความคล่องตัว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์

ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทางเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 18,000 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวด้านการผลิต การขยายตัวด้านรายได้รวมของระบบเศรษฐกิจ และการจ้างงาน ประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน