เปิดหนังสือกรมทางหลวงแจง ป.ป.ช. ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์

10 ส.ค. 2567 | 09:37 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 09:56 น.

เปิดหนังสือ“กรมทางหลวง”แจง ป.ป.ช. 5 ข้อ ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าผ่านทางเพื่อแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ พร้อมเผยข้อมูลรายได้ย้อนหลังทางยกระดับดอนเมือง 5 ปี

กรณีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงกรมทางหลวง (ทล.) ให้ชี้แจง 5 ประเด็นคำถามเกี่ยวกับการขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์ ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ในปี 2577 

หลังสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา โดยได้สอบทางไปยังกรมทางหลวง ใน 5 ประเด็นคำถาม และให้ ตอบกลับภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 นั้น

พบว่า กรมทางหลวง โดย นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดี ได้ทำหนังสือชี้แจงตอบข้อคำถามของ ป.ป.ช. ทั้ง 5 ข้อแล้ว โดยคณะทำงานพิจารณาลดค่าผ่านทางแลกกับการขยายสัมปทาน ซึ่งแต่งตั้งโดยกรมทางหลวง ได้ข้อสรุปจากผลการศึกษาว่า  ไม่เห็นด้วยกับการลดค่าผ่านทางเพื่อแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทาน

รายละเอียดของคำถามจาก ป.ป.ช. และ คำตอบจากกรมทางหลวง เป็นดังนี้ 

๑. ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า ได้มอบหมายให้ กรมทางหลวงเจรจากับบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จํากัด (มหาชน) คู่สัญญาสัมปทานทางยกระดับดอนเมือง ในการปรับลดค่าผ่านทาง ปัจจุบันกรมทางหลวงได้ดําเนินการไปคืบหน้ามากน้อยเพียงใด

กรมทางหลวงได้มีคําสั่งที่ บ.๑/๑๐๐/๒๕๖๗ ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๗ แต่งตั้งคณะทํางานพิจารณาการปรับอัตราค่าผ่านทาง โครงการทางหลวงสัมปทานในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๑ ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง - ดอนเมือง และทางหลวงสัมปทานตอนต่อขยายทางด้านทิศเหนือ (โครงการฯ) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ แนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯก่อนเสนออธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดําเนินการต่อไป (คณะทํางานฯ)

                       เปิดหนังสือกรมทางหลวงแจง ป.ป.ช. ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์

 

โดยคณะทํางานฯ มีอํานาจหน้าที่ ดังนี้

(๑) ศึกษา วิเคราะห์ แนวทางและความเป็นไปได้ในการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง รวมถึงการปรับลดอัตราค่าผ่านทาง เพื่อเสนอต่ออธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

(๒) ศึกษาผลกระทบของสัญญาสัมปทานฯ จากการชะลอการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทาง รวมถึงการปรับลดอัตราค่าผ่านทาง เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขต่ออธิบดีกรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

(๓) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่อธิบดีกรมทางหลวงได้รับมอบหมาย
สําหรับการดําเนินการที่ผ่านมาคณะทํางานฯ ได้มีการศึกษาและพิจารณาแนวทางความเป็นไปได้ในการปรับลดอัตราค่าผ่านทางของโครงการฯ รวมถึงได้เชิญบริษัทฯ เข้าให้ข้อมูลต่อคณะทํางานฯ และรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการดําเนินการปรับลดอัตราค่าผ่านทาง ของโครงการฯ

                      เปิดหนังสือกรมทางหลวงแจง ป.ป.ช. ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์

ทั้งนี้ ผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทํางานฯ เห็นว่าการปรับลดค่าผ่านทาง และการขยายระยะเวลาสัมปทานเพื่อชดเชยผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัท ยังไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการในขณะนี้ โดยกรมทางหลวงอยู่ระหว่างการเสนอผลการพิจารณาดังกล่าวต่อกระทรวงคมนาคม 

๒. กรมทางหลวงได้ดําเนินการศึกษาความเหมาะสมในการแก้ไขสัญญาสัมปทานดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่

จากผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทํางานฯ เห็นควรที่จะไม่แก้ไขสัญญาสัมปทานโดยการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทาน

๓.เนื่องจากสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. ๒๕๗๗ ซึ่งทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของกรมทางหลวง ทําให้รัฐสามารถกําหนดอัตราค่าผ่านทางได้เองโดยไม่กระทบกับประชาชน เหตุใดกรมทางหลวงจึงไม่รอให้สัญญาสิ้นสุดแล้วดําเนินการเอง

จากผลการศึกษาและการพิจารณาของคณะทํางานฯ เห็นควรที่จะไม่แก้ไขสัญญาสัมปทานโดยการปรับลดค่าผ่านทางและการขยายระยะเวลาสัมปทาน

๔. ขอข้อมูลรายได้ของทางยกระดับดอนเมืองในระยะเวลา ๕ ปีที่ผ่านมา 

กรมทางหลวงขอนําเรียนสถิติรายได้ของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จํากัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ ถึง ๒๕๖๖ ดังนี้

ปี  ๒๕๖๒ มีรายได้ค่าผ่านทาง ๒,๘๑๖ ล้านบาท

ปี  ๒๕๖๓ มีรายได้ ๒,๐๔๗ ล้านบาท

ปี ๒๕๖๔ มีรายได้ ๑,๒๐๒ ล้านบาท

ปี ๒๕๖๕ มีรายได้ ๑,๘๓๒ ล้านบาท

ปี ๒๕๖๖ มีรายได้ ๒,๓๒๕ ล้านบาท

                    เปิดหนังสือกรมทางหลวงแจง ป.ป.ช. ไม่ขยายสัมปทานดอนเมืองโทลล์เวย์

๕. การดําเนินการตามสัญญา เป็นการใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่าง รัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือใช้บังคับตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖ เนื่องจากมีบทเฉพาะกาลที่ใช้บังคับตามปี พ.ศ. ๒๕๕๖

ปัจจุบันสัญญาสัมปทานนี้ดําเนินการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งกรมทางหลวงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกํากับดูแลของโครงการฯ ตามมาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. ๒๕๖๒