พายุ "ต้นทุน" พุ่ง ดัน "ค่าก่อสร้างบ้าน" แพงขึ้น 3.5%

21 เม.ย. 2566 | 10:03 น.

"ราคาค่าก่อสร้างบ้าน" แพงขึ้น 3.5% หลัง REIC ชี้ ต้นทุน ไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้และสุขภัณฑ์ รวมถึง ค่างานออกแบบยังพุ่ง ขณะสถานการณ์ ราคาเหล็ก ยังสูงขึ้น 7.1% มองแนวโน้มใกล้คลี่คลาย

21 เมษายน 2566 - ไม่ใช่แค่ดัชนีความร้อนของไทยที่พุ่งเอาๆ แต่ดัชนี "ราคาค่าก่อสร้างบ้าน" ล่าสุด ก็เพิ่มขึ้นมาอีก 3.5% เช่นกัน ซึ่งมาจาก ต้นทุนทั้งหมวดการออกแบบก่อสร้าง และ ราคาวัสดุก่อสร้าง เช่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ รวมถึง สุขภัณฑ์ เพิ่มขึ้นกว่า 13% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2565

ค่าออกแบบบ้าน - งานระบบบ้าน แพงขึ้น 

โดย ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC)  รายงานดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 1 ปี 2566 มีค่าดัชนีเท่ากับ 134.4 โดยภาพรวมเพิ่มขึ้น 3.5 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565  โดยเป็นการคำนวณราคาค่าก่อสร้างจากแบบบ้าน 2 ชั้น พื้นที่ใช้สอย 169 ตารางเมตร ใช้สมมติฐานระยะเวลาการก่อสร้างบ้านไว้ประมาณ 180 วัน นับรวมค่าดำเนินการ และภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วแต่ไม่นับรวมราคาที่ดินและค่าใช้จ่ายในการพัฒนาที่ดิน พบว่าดัชนีราคาที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าตอบแทนในหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบที่เพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในหมวดงานสถาปัตยกรรม 8.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

น้ำมันแพง ดัน ราคาวัสดุก่อสร้างพุ่งต่อ

ส่วน หมวดราคาวัสดุก่อสร้างมีการปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2565 ทั้ง 7 รายการ ได้แก่

  • สุขภัณฑ์ 
  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 
  • กระเบื้อง 
  • เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก 
  • อุปกรณ์ไฟฟ้าและประปา 
  • ผลิตภัณฑ์คอนกรีต 
  • วัสดุก่อสร้างอื่นๆ 

พายุ "ต้นทุน" พุ่ง ดัน "ค่าก่อสร้างบ้าน" แพงขึ้น 3.5%
โดยพบว่าราคาสุขภัณฑ์มีการปรับเพิ่มขึ้นมากถึง 13.2%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ในขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 13 % ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตและภาคการขนส่งวัสดุก่อสร้าง ทำให้เกิดการถ่ายโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปเป็นราคาค่าก่อสร้างที่อยู่อาศัย

ขณะที่องค์ประกอบหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ ปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการเช่นกัน จึงมีผลให้ดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐาน ไตรมาส 1 ปี 2566 มีการปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ในไตรมาสนี้หมวดแรงงานยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง

พายุ "ต้นทุน" พุ่ง ดัน "ค่าก่อสร้างบ้าน" แพงขึ้น 3.5%

ผ่าต้นทุนการก่อสร้างบ้าน 1 หลัง

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจำแนกต้นทุนของงานก่อสร้างหมวดงานออกแบบก่อสร้างและงานระบบ พบว่ามีการปรับเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยหมวดงานสถาปัตยกรรม ซึ่งมีสัดส่วน 65.6 %ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 8.8 % ซึ่งถือว่าเป็นหมวดที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงสุด 

ขณะที่หมวดงานวิศวกรรมโครงสร้าง มีสัดส่วน 28.0 %ของหมวดงานออกแบบและงานระบบ มีอัตราค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น 6.0 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 

สำหรับต้นทุนงานก่อสร้างหมวดวัสดุก่อสร้าง พบว่ามีรายการที่เพิ่มขึ้นเกินกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 จำนวน 3 รายการ ได้แก่ 

  • สุขภัณฑ์ 
  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 
  • กระเบื้อง 

โดยสุขภัณฑ์ มีสัดส่วน 2.0 % ของหมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นรายการที่มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด13.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ มีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของหมวดวัสดุก่อสร้าง พบว่ามีการปรับราคาเพิ่มขึ้น13.0 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น3.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 

กระเบื้อง เป็นอีกรายการที่มีการปรับเพิ่มขึ้นสูงเกินกว่า 10 % โดยมีสัดส่วน3.5 % ของหมวดวัสดุก่อสร้าง ซึ่งราคาปรับเพิ่มขึ้น10.2%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นสูงถึง 14.1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565

พายุ "ต้นทุน" พุ่ง ดัน "ค่าก่อสร้างบ้าน" แพงขึ้น 3.5%

ราคาเหล็กเพิ่มขึ้น 7.1% 

ส่วนเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก มีสัดส่วน5.8 % ของหมวดวัสดุก่อสร้าง เป็นอีกรายการที่ราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้น7.1%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่มีแนวโน้มการชะลอการปรับขึ้นราคาโดยพบว่าลดลง-0.4 %เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 

เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่มีสัดส่วน 4.3 % ของหมวดวัสดุก่อสร้าง แม้ราคาจะเพิ่มขึ้น 2.5%  เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่พบว่าราคาไม่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2565 ซึ่งทั้งสองรายการเป็นองค์ประกอบสำคัญของดัชนีราคาค่าก่อสร้างบ้านมาตรฐานจึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงราคาต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปี 2566