'ที่อยู่อาศัย' ภาคเหนือ สต็อกค้าง 6หมื่นล้าน ทำเล สนามบิน-แม่ฟ้าหลวง มากสุด !

17 มี.ค. 2566 | 03:50 น.

ตลาดที่อยู่อาศัย 5 จังหวัดภาคเหนือ ยังน่าห่วง REIC เผย อัตราดูดซับต่ำสุดในรอบ 2 ปี โครงการเปิดตัวใหม่ลดฮวบ ขณะสต็อกค้างร่วม 6 หมื่นล้านบาท ทำเล สนามบิน-แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงใหม่ มากสุด !

17 มีนาคม 2566 -  ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (REIC) รายงานสถานการณ์ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัย ช่วงครึ่งหลังปี  2565 ของจังหวัดภาคเหนือ 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พิษณุโลก และนครสวรรค์ พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย ที่อยู่ในช่วงของการปรับตัวด้านอุปทานไปสู่สภาวะสมดุลกับอุปสงค์  

ดังจะเห็นได้ว่า อุปทานเสนอขาย (Total Supply) ที่มีจำนวนลดลงจากครึ่งแรกของปี 2565 เนื่องจากหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ (New Supply) น้อยลงอย่างมาก ซึ่งไปตอบรับกับยอดขายได้ใหม่ (New Sales) ที่มีการปรับตัวลดลงจากช่วงก่อนมากเช่นกัน ส่งผลให้จำนวนหน่วยเหลือขายในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ลดลงร้อยละ -1.2  และมีผลให้อัตราดูดซับของภาพรวมตลาดลดลงลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ซึ่งต่ำสุดในรอบ 5 ปี 

หน่วยเหลือขาย 14,982 หน่วย มูลค่า 60,035 ล้านบาท 

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า การสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยภาคเหนือ 5 จังหวัด ครึ่งหลังปี 2565 พบว่า จำนวนอุปทานพร้อมขายจำนวนประมาณ  16,724 หน่วย มูลค่า 66,298 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 1,818 หน่วย มูลค่า 4,966 ล้านบาท เป็นโครงการบ้านจัดสรร 14,906 หน่วย มูลค่า 61,332 ล้านบาท มีโครงการใหม่เข้าสู่ตลาด 867 หน่วย มูลค่า 4,148 ล้านบาท มีโครงการขายได้ใหม่จำนวน 1,742 หน่วย มูลค่า 6,263 ล้านบาท ส่งผลให้มีหน่วยเหลือขาย 14,982 หน่วย มูลค่า 60,035 ล้านบาท 

 “ทิศทางการของตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างขายในภาคเหนือ พบว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2565 มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ที่เป็นบ้านจัดสรรเกิดขึ้นเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ และนครสวรรค์  และอาคารชุดเฉพาะในเชียงใหม่เท่านั้น ในขณะที่จังหวัดเชียงราย ลำพูน พิษณุโลก เป็นการขายโครงการเก่าที่เปิดขายมาตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าในทุกประเภทที่อยู่อาศัย เพื่อลดจำนวนหน่วยเหลือขายและเพิ่มอัตราดูดซับในตลาด โดยใน 5 จังหวัดภาคเหนือ จังหวัดลำพูนมีอัตราดูดซับบ้านจัดสรรสูงสุดร้อยละ 4.8 และเชียงใหม่มีอัตราดูดซับอาคารชุดสูงสุดร้อยละ 3.3 แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการดูดซับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้า เนื่องจากยอดขายที่ลดลง”  
 

อุปทานโดยรวม  ในช่วงครึ่งหลังปี 2565 ที่อยู่อาศัยเสนอขายทั้งหมด จำนวนประมาณ 16,724 หน่วย มูลค่า 66,298 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ -6.0 และมูลค่าลดลงร้อยละ -0.7 เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรก (HoH) จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -15.9 มูลค่าลดลง – 13.6 โดยเป็นโครงการใหม่เข้าสู่ตลาดจำนวนเพียง  867 หน่วย มูลค่า 4,148 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) ร้อยละ -50.6 และร้อยละ -39.9 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก (HoH) จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -72.6 มูลค่าลดลง -69.0  ขณะที่ที่อยู่อาศัยเหลือขาย ณ สิ้นปี 2565 จำนวน 14,982 หน่วย มูลค่า 60,035 ล้านบาท จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -1.2 ขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 แต่เมื่อเทียบกับครึ่งแรก (HoH)  จำนวนหน่วยลดลงร้อยละ -11.3 มูลค่าลดลง –9.0

5 ทำเล สต็อกเหลือขายมากสุด 

โดย 5 ทำเล ที่มีจำนวนหน่วยเหลือขายมากที่สุดใน 5 จังหวัดภาคเหนือ คือ 

  • อันดับ 1 ทำเลสนามบิน-แม่ฟ้าหลวง จำนวน 1,429 หน่วย มูลค่า 5,024 ล้านบาท 
  • อันดับ 2 ทำเลสันทราย จำนวน 1,345 หน่วย มูลค่า 4,191 ล้านบาท  
  • อันดับ 3 ทำเลสารภี จำนวน 1,321 หน่วย มูลค่า 4,802 ล้านบาท 
  • อันดับ 4  ทำเลในเมืองเชียงราย จำนวน  1,163 หน่วย มูลค่า 5,346 ล้านบาท  
  • อันดับ 5 ทำเลแม่โจ้ จำนวน 1,143 หน่วย 

โดยระดับราคาที่มีหน่วยเหลือขายมากที่สุดคือ 3.01-5.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 5,592 หน่วย มูลค่า 3,947 ล้านบาท 

อุปสงค์โดยรวม  พบว่าในช่วงครึ่งหลังปี 2565 มีที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่ 1,742 หน่วย มูลค่า 6,263 ล้านบาท  ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 1,418 หน่วย มูลค่า 5,432 ล้านบาท และอาคารชุดเพียง 324 หน่วย มูลค่า 831 ล้านบาท ซึ่งทำเลที่มีหน่วยขายได้สูงสุด  5 อันดับแรกคือ 

  • อันดับ 1 สันทราย จำนวน 170 หน่วย มูลค่า 595.2 ล้านบาท  
  • อันดับ 2 ดรีมแลนด์ จำนวน 163 หน่วย มูลค่า 745.8 ล้านบาท 
  • อันดับ 3 แม่โจ้ จำนวน 139 หน่วย มูลค่า 405.4 ล้านบาท  
  • อันดับ 4 หางดงตอนบน จำนวน 129  หน่วย มูลค่า 326.5 ล้านบาท
  • อันดับ 5 ม.พายัพ จำนวน หน่วย 127 มูลค่า 498.8 ล้านบาท