อสังหาฯนิวไฮยกแผง 37 ค่ายกวาดรายได้ ทะลุ 3.3 แสนล้าน

04 มี.ค. 2566 | 02:45 น.
อัพเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2566 | 02:46 น.

สรุปผลงานอสังหาฯไทย ปี 2565 ตัดจบ 3 ปีวิกฤติโควิด รวม 37 บริษัทใหญ่ กวาดรายได้ทะลุ 3.3 แสนล้าน ขณะ TOP 5 ทำกำไรรวมกันเกือบ 3 หมื่นล้าน มองสัญญาณตลาดบวกต่อ เก็งทิศทางปี 2566 เป็นปีทอง แม้มีปัจจัยท้าทายรออยู่

หากปี 2563-2564 คือ จุดตกอับ-ต่ำสุด ของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย จากภาวะ 'ตลาดที่อยู่อาศัย' หดตัวอย่างรุนแรง ทั้งซัพพลายใหม่และดีมานด์ หายนะเป็นรองแค่วิกฤติน้ำท่วมใหญ่ เมื่อปี 2554 ที่เคยติดลบไปถึง 20% 

ปี 2565 ก็คงเป็นปีที่ตลาดกลับมาฟื้นตัวอย่างผงาดได้อย่างรวดเร็วและน่าแปลกใจไม่น้อย สวนทางสภาพแวดล้อมที่ไม่สดใสมากนัก มีปัจจัยลบรุมเร้ารอบด้านตลอดช่วงปีที่ผ่านมา เพราะโลกเผชิญความเสี่ยงทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ , สงครามยูเครน , วิกฤติพลังงงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์เร่งตัวสูง , ปัญหา Supply Chain ปั่นป่วน , อัตราเงินเฟ้อโลกพุ่งสูงสุดในรอบหลายสิบปี จนทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศ เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว กระทบต้นทุนของภาคธุรกิจ และกำลังซื้อของภาคประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้   

แต่นั่นกลับมีผลต่อธุรกิจอสังหาฯไทยเพียงเล็กน้อย เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูลผลประกอบการของบริษัทอสังหาฯที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้ง 37 บริษัท ยังคงทำรายได้รวมถึง 3 แสนล้านบาท โตขึ้น 18.05% พร้อมกับคำว่า All Time High ทุกมิติของเบอร์ต้นในอุตสาหกรรม 

TOP 5 ทำกำไรรวมเกือบ 3 หมื่นล้าน

ข้อมูลจาก บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ระบุ จากรายได้รวมราว 334,267 ล้านบาท ของ 37 บริษัท พบมีกำไรสุทธิร่วมกว่า  44,421 ล้านบาท เติบโต 27.94% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ย 13.28% เพิ่มขึ้นจากจาก 11.57% ในปีก่อนหน้า 

ขณะ 5 บริษัทเบอร์ต้นที่ทำกำไรสูงสุด  ได้แก่ บริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กำไร 8,318 ล้านบาท อันดับ 2 บมจ.ศุภาลัย กำไร 8,173 ล้านบาท อันดับ 3 บมจ. เอพี กำไร 5,877 ล้านบาท อันดับ 4 บมจ.แสนสิริ กำไร 4,242 ล้านบาท และอันดับ 5 บมจ.ออริจิ้น กำไร 4,212 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ  3 หมื่นล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 28.3% 

โดยบริษัทที่มีการเติบโตของกำไรสูงสุด คือ บมจ. แสนสิริ กับการพุ่งขึ้นมา 112% เป็นกำไรที่สูงสุดในรอบ 38 ปี ขณะบริษัทที่คว้าแชมป์รายได้ และ มีการเติบโตของรายได้สูงสุด คือ บมจ. เอพี ไทยแลนด์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายบริษัท ที่อยู่ในสถานะ 'ขาดทุน'ต่อเนื่อง โดยเฉพาะ บมจ.ออลล์อินสไปร์ ที่เผชิญกับวิกฤติสภาพคล่อง ขณะ บมจ.อนันดา ยังเจ็บหนัก จากยอดขายรอรับรู้รายได้ของกำลังซื้อต่างชาติ จึงต้องจับตา ว่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกในปีนี้ได้หรือไม่

อสังหาฯนิวไฮยกแผง  37 ค่ายกวาดรายได้ ทะลุ 3.3 แสนล้าน

ความเชื่อมั่นอสังหาฯฟื้น แต่ปัจจัยลบยังมี 

ขณะในมุมของ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านอสังหาฯ นายอนุกูล  รัฐพิทักษ์สันติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ผ่าอนาคตอสังหาฯไทยปี 2566 ไว้น่าสนใจว่า ตัวเลขผลงานของอสังหาฯ รายใหญ่ ทั้งหมดข้างต้น จะเป็นสัญญาณของการพลิกฟื้นตัวที่รวดเร็วของอสังหาฯ ไทย ในปีนี้ได้หรือไม่ ยังต้องติดตาม หลังศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย ปีนี้ชะลอ โดยอุปทานจะมีสภาวะทรงตัวถึงชะลอเล็กน้อย แม้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2564 จึงเชื่อว่า ปีนี้อสังหาฯยังคงทรงตัว แต่จะเป็นช่วงเวลา ฟูมฟักการฟื้นตัวให้แข็งแรง ก่อนขยายตัวอย่างแรงในปี 2567

"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มกลับมาเต็มที่ เป็นโอกาสทางธุรกิจ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยง ทั้งทิศทางการฟื้นตัวของโลก จะกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร แนวโน้มราคาพลังงาน วัตถุดิบสูงขึ้น กดดันต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อ ตลอดจนการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วย"

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยล่าสุด จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเดือน ก.พ.โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาฯ ที่ความเชื่อมั่นปรับดีขึ้นในเกือบทุกด้าน ส่วนหนึ่ง มาจากนักลงทุนชาวจีนที่เริ่มทยอยกลับเข้ามาโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯเพิ่มขึ้น 

"เอสซี แอสเสท" มองสัญญานบวกอสังหาฯปี 66 

จับสัญญาณการลงทุนครั้งใหญ่ของอสังหาฯเบอร์ต้น อย่างที่ 'ฐานเศรษฐกิจ' เคยนำเสนอไปก่อนหน้า ว่าปี 2566 การลงทุนใหม่จะกลับมาร้อนแรง ภายใต้ความเชื่อว่า เศรษฐกิจจะโตต่อ - กำลังซื้อต่างชาติจะกลับมาพีค เช่นเดียวกับ มุมมองของ เบอร์ 6 รายได้โดดเด่นในตาราง อย่าง บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น 

นาย ณัฐพงศ์ คุณากรณ์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ตลอดฝันร้ายของภาคธุรกิจ 3 ปีที่ผ่านมา  น่าจะเป็นจุดจบของวิกฤติแล้ว บริษัทเองผ่านพ้นมาอย่างแข็งแกร่งและเติบโตทุกมิติ พร้อมตั้งเป้ายอดขายใหม่ปี 2566 ที่ระดับ 3 หมื่นล้านบาท ด้วยเม็ดเงินการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท ผ่านแผนเปิดโครงการใหม่ 25 โครงการ มูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาท  ตั้งแต่ราคา 2.5 ล้าน - 150 ล้านบาท 

หลังจากเชื่อว่า ปีนี้ อสังหาฯจะกลับมาโต ทั้งในฝั่งซัพพลายและดีมานด์ โดยเฉพาะตลาดคอนโดฯ อาจได้เห็นมูลค่าตลาดกลับมาที่ระดับ 2 แสนล้านบาทอีกครั้ง  และโอกาสในตลาดบ้านราคามากกว่า10 ล้านบาท ทั้งนี้ในระยะ 5 ปี (ปี2566-2570) บริษัทจะลงทุนรวมเตะ 1.25 แสนล้านบาท เพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วง 1-2 ปีนี้ แม้ต้องระวัง ภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ,ดอกเบี้ย และ เงินเฟ้อต่อ แต่จำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนที่จะกลับเข้ามา จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรวม

จับตา "ออริจิ้น" ประกาศแผนลงทุน

ขณะ บมจ. ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ กับ All Time High กำไรสุทธิ 3,775 ล้านบาท ในปี 2565 นั้น ชี้ ภาพรวมเศรษฐกิจปีนี้ มีปัจจัยบวกเด่นชัดหลายด้าน เมื่อเทียบกับ 3 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเปิดประเทศของนานาประเทศสำคัญแบบเต็มปีเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ส่งผลให้เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและโรงแรมฟื้นตัว กำลังซื้อคอนโดฯ จากต่างประเทศกลับมาไทย การเติบโตของเมืองกระจายสู่พื้นที่หัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น 

ซึ่งบริษัทจึงอยู่ระหว่างการเดินหน้าวางแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อ กำหนดเปิดแผนธุรกิจอย่างเป็นทางการ 7 มี.ค.2566 ทั้งนี้ ในอุตสาหกรรมต่างจับตามอง ว่า ออริจิ้น จะทุบสถิติการเปิดตัวโครงการมากกว่า 7.7 หมื่นล้านบาท ที่ บมจ.เอพี ประกาศออกมาก่อนหน้านี้หรือไม่ ซึ่งทั้งหมดส่งสัญญาณว่าในฝั่งผู้พัฒนา มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่้กับภาวะเศรษฐกิจ และ อสังหาฯในระยะข้างหน้า แม้จะไร้แรงส่งในแง่มาตรการกระตุ้นอสังหาฯอย่างที่เคยมีในปี 2565