ถอดรหัส 'เมืองใหม่' จาก‘ท่าตะเกียบสู่ห้วยใหญ่บางละมุง’

03 ส.ค. 2565 | 05:38 น.

ถอดรหัสเมืองใหม่ จาก‘ท่าตะเกียบ สู่ห้วยใหญ่บางละมุง’ เริ่มจากบิ๊กจิ๋ว เสก ป่าสงวน แสนไร่ เนรมิตเมือง ทักษิณ หมายมั่น บ้านนา องครักษ์ หนองงูเห่า สูวรรณภูมิ พัฒนาเมืองกระจายความเจริญ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สุดท้ายไม่สำเร็จ นักเก็งกำไร ตุ้นที่ดินหัวทิ่ม ราคาที่ดินวิ่งไปไกล

 

รัฐบาลแต่ละยุคแต่ละสมัยได้ผลักดันโครงการเมืองใหม่ ให้เหมือนกับต่างประเทศมาแล้วหลายโครงการ เพื่อลดความแออัดกระจายแหล่งงานไม่ให้กระจุกที่เมืองหลวงเพียงแห่งเดียว แต่ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ไม่ประสบความสำเร็จ สาเหตุใหญ่เกิดจากพฤติกรรมของประชากรไทยและนักลงทุนอาจไม่ชื่นชอบการเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่รัฐจัดสร้างขึ้น 

 

แต่ชอบตั้งถิ่นฐานลงทุนในทำเลที่เจริญเองตามโครงข่ายถนนเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านมีศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ตัวก่อกำเนิดให้เกิดความนิยมเข้าใช้พื้นที่ และกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่ในที่สุด

 

เมืองใหม่ท่าตะเกียบ

              

 

เริ่มจาก นโยบายโครงการเมืองใหม่แห่งแรกของไทย ราว 30 ปีก่อน เรียกว่าเมืองใหม่ท่าตะเกียบจังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยนั้นยังเป็นกิ่งอำเภอท่าตะเกียบ และรอยต่ออำเภอสนามไชย พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย (มท.1) ใน รัฐบาลชวน หลีกภัย ผลักดันพื้นที่ย่านทุรกันดาร บนที่ดินป่าสงวนกว่า 1 แสนไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไร่มันสำปะหลัง สวนยาง ของชาวบ้าน  ให้กลายเป็นทองคำ สร้างเมืองแบบตัดขาดเมืองหลวง

              

ถอดรหัส 'เมืองใหม่' จาก‘ท่าตะเกียบสู่ห้วยใหญ่บางละมุง’

โดยมีเขื่อนสียัด ของกรม ชลประทาน เติมเต็มความอุดมสมบูรณ์ ถนนทางลูกรังรถวิ่งผ่านเข้าสวนยางไร่มัน แต่ละครั้งฝุ่นฟุ้งกระจายซึ่งตามแผนจะมีการลงทุนระบบโครงสร้างฟื้นฐานเชื่อมต่อ ขณะการซื้อขายเปลี่ยนมือเก็งกำไร เป็นเรื่องปกติ มีนายทุนและผู้นำชาวบ้านเจ็บตัวหลายราย เพราะโครงการเมืองใหม่ท่าตะเกียบล้มไม่เป็นท่า

 

 

จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ชาวบ้านบางกลุ่มไม่เห็นด้วย เพราะทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน และเสี่ยงต่อภัยความมั่นคง เนื่องจากที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจากชายแดนไทย-กัมพูชากว่า 100 กิโลเมตร เท่านั้น

ถอดรหัส 'เมืองใหม่' จาก‘ท่าตะเกียบสู่ห้วยใหญ่บางละมุง’

เมืองใหม่บ้านนา-มหานครสุวรรณภูมิ

              

ต่อมาเมืองใหม่ระดับชาติก็เกิดขึ้นอีกสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรปูพรมเมืองใหม่ จังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอ บ้านนาเชื่อมต่อองครักษ์ใช้ที่ดิน 1.5-1.6 แสนไร่ รองรับพลเมืองที่จะเข้าไปอยู่กว่า 2-3 แสนคน และให้นำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ ซึ่งคราวนั้นคนบาดเจ็บจากการซื้อที่ดินก็ มาก และตามด้วยจังหวัดที่ 77 มหานครสุวรรณภูมิช่วงก่อสร้าง สนามบินสุวรรณภูมิ

 

 

ซึ่ง พ.ต.ท. ทักษิณ มีแนวคิดสร้างเมืองแฝดคู่กับ กทม. และใช้วิธีเวนคืนกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูก ในขณะนักการเมืองและนายทุนชั้นนำระดับคุณหญิงคุณนาย กว้านซื้อที่ดินดักความจริญและเตรียมปรับสีผังเมืองทั้งกทม.และสมุทรปราการให้สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยมีสนามบินเป็นแม่เหล็ก และใกล้เมืองหลวง แต่ทว่าโครงการก็ล้มไม่เป็นท่ากลุ่ม คนที่ซื้อที่ดินกลายเป็นแมงเม่า

 

 

เพราะที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มแอ่งรับนํ้าหรือแก้มลิงอยู่ในแนวโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในสมัยนั้นหากพัฒนา ถมที่ดินบน มหานครสุวรรณภูมิ สูงกว่า กทม. เมืองหลวงทั้งเมืองต้องจมนํ้านำพาเศรษฐกิจประเทศเสียหาย และต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล นอกจากนี้ยังมีแผนย้ายเมืองหลวงไปยังสระบุรีบริเวณเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แต่เรื่องก็เงียบหายไป

เมืองใหม่ห้วยใหญ่ บางละมุง

              

 

ยุครัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ราวปี 2557-2558 มีแผนขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อต่อยอดการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งเป็นที่รู้จักกว่า 30 ปีก่อน และ ครั้งนี้มีแผนพัฒนาเมืองใหม่ไม่ตํ่ากว่า 5 บริเวณ

 

 

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ประกาศปักหมุดพัฒนาโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองน่าอยู่อัจฉริยะมูลค่า 1.34 ล้านล้านบาท

              

 

เจียรไนที่ดินสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ให้เป็นเพชรเจิดจรัสบนเนื้อที่ 14,619 ไร่ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุงจังหวัดชลบุรี อีกหนึ่งเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการให้เป็นแม่เหล็กดึงนักลงทุนเข้าพื้นที่ รวมทั้งรองรับ การขยายตัวของเมือง ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ถอดรหัส 'เมืองใหม่' จาก‘ท่าตะเกียบสู่ห้วยใหญ่บางละมุง’

 

 

ที่ผ่านมามีพื้นที่ศึกษาไม่ตํ่ากว่า 70,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลโป่ง ตำบลห้วยใหญ่ และตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แต่ในที่สุด ได้พื้นที่มาจากการทำประชาคมชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรได้มาเพียงตำบลเดียว คือที่ตำบลห้วยใหญ่ และเฟสแรกได้ที่ดินมาเพียง 2,000 ไร่

 

 

จากเป้าหมายโครงการนำร่องระยะแรก 5,000 ไร่สะท้อนว่าการรวมแปลงที่ดินไม่ใช่เรื่องง่าย ที่สำคัญต้องทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่น ว่าโปรเจ็กต์ของรัฐ จะต้องเกิดขึ้นได้จริง ไม่ใช่เมืองร้าง หรือยกเลิกโครงการกลางคันเหมือนในอดีต

              

 

นั่นหมายถึง ประกาศความชัดเจน มีงบประมาณล็อกไว้ระยะยาวเพื่อดำเนินโครงการ, คนพื้นที่ต้องได้ประโยชน์สมนํ้าสมเนื้อ, เร่งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน จากส.ป.ก.เป็นพื้นที่พัฒนาเชิง พาณิชย์โดยเร็ว, ปูพรมลงทุนโครง สร้างพื้นฐานเชื่อมทั้งในและนอกโครงการ

 

 

รวมถึงฟีดเดอร์เชื่อมถึงหน้าบ้าน, เร่งคลอดรูปแบบการพัฒนา ให้โดนใจกลุ่มทุนสิทธิ์ ประโยชน์จูงใจสูงสุด, การเมืองต้องเสถียร แต่สิ่งที่วิ่งนำหน้าไปก่อน คือการปั่นราคาที่ดิน การเก็งกำไร การตุ้นที่ดินในมือของนายทุน และเสี่ยงเจ็บตัวยิ่งหากโครงการไม่เกิด

              

อย่างไรก็ตามอยากให้ย้อนบทเรียนโครงการเมืองใหม่หลายแห่งที่เกิดขึ้นในอดีต แม้กฎหมายล็อกว่าต้องเดินหน้า แต่สิ่งที่น่ากลัวคือจุดขายสำหรับดึงคนเข้าพื้นที่ที่อาจไม่ขลังพอและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้น!!!

ถอดรหัส 'เมืองใหม่' จาก‘ท่าตะเกียบสู่ห้วยใหญ่บางละมุง’