"บิ๊กป๊อก" ลงนามเลื่อนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3 เดือน

23 มิ.ย. 2565 | 10:00 น.
อัพเดตล่าสุด :23 มิ.ย. 2565 | 17:30 น.

"บิ๊กป๊อก" ลงนามเลื่อนจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 65 ออกไปอีก 3 เดือน เหตุโควิดระบาด กระทบเศรษฐกิจของประเทศ ลุยขยายเวลาผ่อนชำระสำหรับผู้เสียภาษี ฟากมหาดไทย ซุ่มส่งหนังสือเวียน แจ้งมีผลบังคับทันที หลังเอกชนยื่น"คลัง"ลดภาระประชาชน

รายงานจากกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (22 มิ.ย.) พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงนามในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ประจำปี พ.ศ. 2565 มีผลตั้งแต่วันนี้ เป็นต้นไป ใจความว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) ส่งผลให้ เศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้รับผลกระทบ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนผู้เสียภาษีให้ผู้เสียภาษี มีเวลาชำระภาษีมากขึ้น

 

 

ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 14 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

 

 "เห็นชอบให้ขยายกำหนดเวลาดำเนินการของผู้มีหน้าที่ ต้องปฏิบัติตามกำหนดเวลาในพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 เฉพาะการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ประจำปี พ.ศ. 2565 เป็นการทั่วไป ออกไปอีก 3 เดือน"

 

สำหรับประเด็นดังนี้ 1. ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการชำระภาษีตามแบบแจ้งการประเมินภาษี ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2565 เป็นภายใน เดือนกรกฎาคม 2565

 

 2. ขยายกำหนดเวลาของผู้เสียภาษีในการผ่อนชำระภาษี ตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 และข้อ 3 ของกฎกระทรวงการผ่อนชำระภาษีที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ดังนี้ 2.1 งวดที่หนึ่ง จากเดิมภายในเดือนเมษายน 2565 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2565 2.2 งวดที่สอง จากเดิมภายในเดือนพฤษภาคม 2565 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2565 2.3 งวดที่สาม จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นภายในเดือนกันยายน 2565

 

3. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการมีหนังสือแจ้งเตือนผู้เสียภาษี ที่มีภาษีค้างชำระ ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จากเดิมภายใน เดือนพฤษภาคม 2565 เป็นภายในเดือนสิงหาคม 2565

4. ขยายกำหนดเวลาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในการแจ้งรายการภาษีค้างชำระ ให้สำนักงานที่ดินหรือสำนักงานที่ดินสาขา ตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 จากเดิมภายในเดือนมิถุนายน 2565 เป็นภายในเดือนกันยายน 2565

 

 

ส่วนแนวทางดำเนินการเกี่ยวกับการขยายกำหนดเวลาดำเนินการ

1. กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ได้ขยายกำหนดเวลาชำระภาษี หรือขยายกำหนดเวลา ชำาระภาษีจากเดือนเมษายนเป็นเดือน พฤษภาคม 2565 หากผู้เสียภาษีชำระภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแล้ว ให้ดำเนินการ ดังนี้

1.1 ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทำบันทึกเสนอผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อขอ อนุมัติคืนเงินเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้แก่ผู้เสียภาษี

 

1.2ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถอนคืนเงินรายรับในลักษณะ ของลาภมิควรได้ ตามข้อ 94 และข้อ 96 ของระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547

1.3 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหนังสือแจ้งให้ผู้เสียภาษีทราบ เพื่อมารับเงินที่ชำระเป็นค่าเบี้ยและเงินเพิ่มคืนภายในหนึ่งปีนับแต่ วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง ตามมาตรา 53 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562

 

2. กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขยาย กำหนดเวลาชำระภาษีเกินกว่าที่รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยให้ความเห็นชอบ เช่น ขยายจากเดือนเมษายนเป็นเดือนสิงหาคม เป็นต้น

 

"ให้กำหนดเวลาชำระภาษีเป็นไปไปตามกรอบระยะเวลาที่องค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่นขยาย"

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0808.3/ว 4437 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ขยายกำหนดเวลาดำเนินการตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ตามประกาศดังกล่าวเมื่อปลายดือนที่แล้ว รมว.การคลัง มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ศึกษาวิเคราะห์การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามข้อเรียกร้องของภาคเอกชน หลังภาคเอกชนได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอให้เลื่อนและลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 2562 ออกไปก่อน เพื่อลดภาระประชาชน และผู้ประกอบการในช่วงที่ต้องเผชิญวิกฤตการแพร่ระบาดไวรัสโควิด และวิกฤตสงครามรัสเซียกับยูเครน

 

 

"โดยหารือกับกระทรวงมหาดไทยว่ามีแนวทางใด ที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระประชาชนเรื่องภาษีที่ดินได้ เพราะภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นรายได้ของท้องถิ่น ที่จะนำรายได้จากภาษีดังกล่าว ไปพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย เพื่อความรอบคอบ”