ตลาด 'พรีคาสท์' พุ่งแรง ฟันธงปีนี้ราคาขึ้นอีก15%

21 ม.ค. 2565 | 05:39 น.

อสังหาฯเร่งงาน สวนทาง ขาดแคลนแรงงาน ดัน ความต้องการ "ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป" หรือ พรีคาสท์ (Precast) พุ่งแรง ขณะ CPANEL รับเละ ประเมินปีนี้โตไม่ต่ำกว่า 25- 30% ระบุ ต้นทุนแพง ดีมานด์ล้น ดัน ราคาแผ่นพรีคาสท์ ปีนี้ ขึ้นอีก 15%

21 ม.ค.2565 - การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ยังเป็นปัญหาสำคัญ สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย ในจังหวะความจำเป็น ที่เอกชน ต้องเร่งพัฒนาโครงการ สร้างรายได้ ขณะภาครัฐ ลุยลงทุน โครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ กระจายเม็ดเงินในระบบ  ทั้งนี้ แรงงานที่ไม่เพียงพอ กลับสร้างอานิสงค์ ให้กับ ตลาด ผนังคอนกรีตสำเร็จรูป หรือ พรีคาสท์ (Precast) เติบโตสูงขึ้นมาก  

โดย นายชาคริต ทีปกรสุขเกษม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (มหาชน) (CPANEL) ผู้ผลิตและจำหน่ายผนังคอนกรีตสำเร็จรูป (Precast) เปิดเผยว่า ความต้องการใช้ พรีคาสท์ ที่สูงขึ้นมากในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 2563 ที่เริ่มเกิดปัญหา การขาดแคลนแรงงาน และ สถานการณ์โควิด19 ในช่วงปี 2564 ทำให้แรงงานต่างด้าวจำนวนมากหนีกลับประเทศ และยังไม่สามารถกลับเข้ามาได้นั้น ทำให้บริษัทมีผลประกอบการที่โตขึ้นถึง 35% ในช่วงปี 2564 

ตลาด \'พรีคาสท์\' พุ่งแรง ฟันธงปีนี้ราคาขึ้นอีก15%

ซึ่งสัดส่วนลูกค้า ทั้งกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ เนื่องจาก  ผู้พัฒนาฯ โครงการ ต้องการเร่งงาน ก่อสร้างโครงการเพื่อให้แล้วเสร็จ ทันส่งมอบลูกค้า และเปิดโครงการใหม่ ผ่านวิธีการ กระจาย จ้างผู้รับเหมาก่อสร้างรายย่อยๆ เข้ามาทำงาน ทำให้มีดีมานด์เพิ่มขึ้นทั้ง 2 ขา 

อสังหาฯฟื้นเพิ่มแรงบวกดีมานด์Precast

สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ปี 2565 นั้น มองว่ามีสัญญาณที่ดี เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มทยอยฟื้นตัว กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมาในหลายพื้นที่ ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการปลดล็อค LTV ส่งผลให้โครงการบ้านยังเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าของบริษัท ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ๆ จึงวางแผนการลงทุนโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะใช้ Precast Concrete มากขึ้น

ตลาด \'พรีคาสท์\' พุ่งแรง ฟันธงปีนี้ราคาขึ้นอีก15%

“จากแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ คาดว่าการแข่งขันของผู้ประกอบการจะยิ่งสูงขึ้น  โดยต้องการความรวดเร็วในการส่งมอบงานได้ทันเวลา ลดต้นทุนการก่อสร้าง ลดจำนวนแรงงาน อีกทั้งสามารถรักษาเงินทุนหมุนเวียน (Working Cap) ในการดำเนินงานได้ " 

 

ทั้งนี้ ดีมานด์ความต้องการ Precast ยังเกิดขึ้นจากการกลับมาฟื้นตัวของตลาดคอนโดฯ ซึ่งสมาคมอสังหาฯประเมิน ปีนี้อาจโตได้ 3-5% โดยเฉพาะ สัดส่วนการพัฒนาโครงการในระดับราคาถูกหลายโครงการ  ส่วนความต้องการในภาคการก่อสร้างโรงงานนั้น  ขณะนี้ยังมีข้อจำกัดในการขยายการลงทุน จากนโยบายรัฐบาลประกาศยกเลิกรูปแบบการเข้าประเทศ Test&Go แต่คาดช่วงปลายปีน่าจะกลับมาคึกคัก  ทำให้บริษัทวางแผนปีนี้ จะสามารถเติบโตได้อีกไม่ต่ำกว่า 25% จากคำสั่งซื้อของลูกค้ากลุ่มต่างๆ  


7 ปัจจัยดันตลาดพรีคาสท์

 

  1. ราคาอสังหาฯ เริ่มกลับมาปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 15% จากต้นทุนวัสดุก่อสร้างแพงขึ้น 
  2. เทรนด์การย้ายออกไปอยู่นอกเมือง เพื่อทำงานที่บ้าน, ทำงานออนไลน์ , และวิถีในโลก เมตาเวิร์ค ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ส่งผลดีมานด์เพิ่มขึ้นในภาคที่อยู่อาศัย
  3. การผ่อนคลาย LTV ทำให้ดีมานด์พลิกขึ้นมา 
  4. ปัญหาแรงงาน ที่เชื่อว่ายังจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ต้นทุนการพัฒนาแพงขึ้น จำเป็นต้องการแนวทางอื่นๆมาทดแทน
  5. โครงการขนาดใหญ่ของรัฐเอกชน เป็นคีย์สำคัญในการดูดซัลพลายของผู้รับเหมายาวนาน3-5ปี 
  6. การพัฒนาอสังหาฯรูปแบบใหม่ๆ ที่เน้นขนาดไม่ใหญ่มาก สร้างเร็ว ทำให้ความต้องการวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 
  7. เงินเฟ้อ ,เงินล้นระบบ ,หนี้สาธารณะ อาจมีแนวโน้มทำให้ดอกเบี้ยขึ้น ขณะอสังหาฯ เอง รายเล็กอยู่ไม่รอด เกิดภาวะควบรวม งานกองอยู่ในมือของรายใหญ่ๆไม่กี่ราย ทำให้การทำธุรกิจง่ายและเร็วขึ้น 

 

" อดีต อสังหาฯ ผู้เล่นเยอะมาก ทุกรายทำกำไรได้ดี แต่ปัจจุบันเกิดการควบรวบ และจะเหลือเป็นรายใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า สำหรับบริษัท กลายเป็นโอกาส ในเจรจาติดต่อง่ายขึ้น อีกแง่ เทรนด์การพัฒนาโครงการใหม่ๆ ที่ไม่ได้มีแค่ตึกสูง และแนวราบ แต่มีรูปแบบอสังหาฯอื่นๆอีกเยอะแยะ จึงเป็นโอกาสในการขาย "

ตลาด \'พรีคาสท์\' พุ่งแรง ฟันธงปีนี้ราคาขึ้นอีก15%
 

ราคาพรีคาสขี้น15% 

นายชาคริต ประเมินว่าจากต้นทุนคอนกรีตที่สูงขึ้น 10-15% จะทำให้แนวโน้ว ราคาพรีคาสท์ปีนี้ ปรับแพงขึ้นไปด้วยในทิศทางเดียวกัน และหากไม่มีปัญหาขาดแรงงาน ตลาดนี้อาจจะโตได้ถึง 100% จากจำนวนงานที่เพิ่มขึ้น ขายเก่า สร้างใหม่ ส่วนปีนี้ตลาดน่าจะโตได้ 30 - 40% 

 

ทั้งนี้ บริษัทจะดำเนินการพัฒนาเครื่องจักรที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องการออกแบบ ความรวดเร็ว ปริมาณ และคุณภาพ Precast Concrete เพื่อรองรับความต้องการลูกค้าได้มากขึ้น รวมถึงลดความผิดพลาด ความสูญเสียในการผลิต

 

นอกจากนี้ ยังมีแผนนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการประสานงานกับลูกค้า การบริหารจัดการภายใน ลดต้นทุน ค่าใช้จ่ายการดำเนินงานต่างๆ ส่งผลให้บริษัทมีความสามารถการทำกำไรมากขึ้น

 

ส่วนแผนการขยายฐานลูกค้า บริษัทยังคงรักษากลุ่มลูกค้าเดิมและเดินหน้าทำตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์กับลูกค้ารายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นกลุ่มผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มขยายโครงการทั้งแนวราบและแนวสูง ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ประมาณ 1,190 ล้านบาท แบ่งเป็นแนวราบ 74% แนวสูง 16% ทยอยรับรู้ภายใน 3 ปี นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 1/65 บริษัทอยู่ระหว่างรอสัญญาจากลูกค้าแนวราบ 4 ราย แนวสูง 2 ราย มูลค่ารวมประมาณ 200 ล้านบาท

 

" Precast Concrete สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ดี เนื่องจากเทคโนโลยีกระบวนการผลิตที่สั้น ตั้งแต่ออกแบบจนถึงส่งมอบบ้านหลังแรกได้ภายใน 15 วันและหลังถัดไปได้ประมาณ 7 วันนับจากวันที่ลูกค้ายืนยันแบบ CPANEL จึงได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะสร้างการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ " 

 

ตลาด \'พรีคาสท์\' พุ่งแรง ฟันธงปีนี้ราคาขึ้นอีก15%