"อนันดา" กำเงินสด 5.9 พันล. ฝ่าโควิดฉุดผลประกอบการขาดทุน

12 พ.ย. 2564 | 03:15 น.

อนันดาฯ (ANAN) เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 64 มียอดโอน 1,746 ล้านบาท เจาะงบ 9 เดือน ขาดทุน 237 ล้านบาท ทั้งนี้ โชว์แบ็คล็อคกว่า 12,800 ล้านบาท และ กระแสเงินสด 5.9 พันล้าน รับความเสี่ยง พร้อมเผย เตรียมลุยเปิดธุรกิจใหม่ เหวังติบโตอย่างมั่นคง

12 พ.ย.2564 -  นายเสริมศักดิ์ ขวัญพ่วง ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ ANAN กล่าวว่า เศรษฐกิจในไตรมาส 3 ยังคงมีความท้าทายสูงผลจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าไตรมาส 2 ทำให้มีมาตรการล็อคดาวน์เกือบตลอดทั้งไตรมาส 3 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้างและทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทฯในไตรมาส 3 ปี 2564 ทั้งยอดขายและยอดโอนนั้น เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นธุรกิจหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารจัดการจำนวน 316 ล้านบาท ลดลงถึง 21% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และลดลงอีก 9% จากไตรมาสก่อนหน้า

ในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทฯ มียอดโอนทั้งสิ้น 1,746 ล้านบาท เป็นยอดที่สูงกว่าที่ประมาณการไว้ และมีสัดส่วนยอดโอนจากลูกค้าชาวต่างประเทศใกล้เคียงจากปีก่อนที่ระดับ 20% ขณะที่มียอดขายรวม 2,403 ล้านบาท ใกล้เคียงกับประมาณการ โดยยอดขายส่วนใหญ่มาจากโครงการพร้อมอยู่ที่ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงที่มีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงก็ตาม

"อนันดา" กำเงินสด 5.9 พันล. ฝ่าโควิดฉุดผลประกอบการขาดทุน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายได้แบบดับเบิลดิจิทในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคมที่ผ่านมา ที่ระดับ 10% - 30% และเตรียมปิดการขายเพิ่มอีก  3 โครงการรวดภายในเดือน พฤศจิกายนนี้  ได้แก่

  • โครงการไอดีโอ โมบิ วงศ์สว่าง-อินเตอร์เชนจ์ มูลค่า 1,573 ล้านบาท
  • โครงการไอดีโอ โมบิ บางซื่อ-แกรนด์ อินเตอร์เชนจ์ มูลค่า 2,272 ล้านบาท
  • โครงการ แอริ พระราม 5 – ราชพฤกษ์ มูลค่า 682 ล้านบาท

โดยมีมูลค่ารวมกว่า 4,527 ล้านบาท  สะท้อนให้เห็นว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์และกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัวกลับมา และหลังจากนี้เตรียมลุยเปิดตัวธุรกิจใหม่และโครงการใหม่ เพื่อก้าวต่อไปอย่างมั่นคงและแข็งแกร่งในอนาคต

"อนันดา" กำเงินสด 5.9 พันล. ฝ่าโควิดฉุดผลประกอบการขาดทุน

อย่างไรก็ตาม เมื่อ "ฐานเศรษฐกิจ" เจาะงบการเงินของบริษัทอนันดา ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ พบในไตรมาส 3 มีผลขาดทุนที่ 251 ล้านบาท ขณะในงวด 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย.) ขาดทุน 237 ล้านบาท 

 

" ในปี 2564 นี้ถือเป็นอีกปีที่ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อรองรับสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงรับมือกับความเสี่ยง และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยที่การควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ และวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสนับสนุนทำให้การท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวและกำลังซื้อจากลูกค้าชาวต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนที่มีความต้องการซื้อสูง จะเป็นตัวช่วยให้แนวโน้มและความมั่นใจกลับมาดีขึ้น และเชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง ทุกอย่างก็จะกลับสู่ภาวะปกติ ผู้คนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในเมือง" 

 

นายเสริมศักดิ์ ระบุทิ้งท้ายว่า ณ สิ้นไตรมาส 3 บริษัทฯ ยังคงรักษากระแสเงินสดกว่า 5,900 ล้านบาท ทั้งยังได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งและต่อเนื่องจากสถาบันการเงินชั้นนำและมีทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายสามารถเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ มีเป้าหมายในการรักษาอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไว้ภายใต้เป้าหมายระยะยาวที่ 1:1