มท.ประกาศอาคารที่ต้องทําประกันภัยตามก.ม.ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน

06 ก.ย. 2564 | 11:57 น.

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศกฎกระทรวงมหาดไทย กําหนดอาคารที่ต้องทําประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน

วันนี้(6 ก.ย.64) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเผยแพร่ กฎกระทรวง กําหนดอาคารที่ต้องทําประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย พ.ศ. ๒๕๖๔

 

อาศัยอํานาจตามความในมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ (๑๓) และ (๑๖) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๔๓ และมาตรา ๓๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคําแนะนําของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

 

ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

 

ข้อ ๒ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกําหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ ต้องทําการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. ๒๕๔๘

ข้อ ๓ ในระหว่างการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคารของเอกชน เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิด ตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก อันเนื่องมาจากการก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคาร สําหรับอาคาร ดังต่อไปนี้

 

(๑) อาคารสูง

 

(๒) อาคารขนาดใหญ่

 

(๓) อาคารขนาดใหญ่พิเศษ

 

ข้อ ๔ ในระหว่างการใช้อาคารของเอกชน เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก สําหรับอาคาร ดังต่อไปนี้

 

(๑) อาคารชุมนุมคน

 

(๒) โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจํานวนห้องพักในอาคารหลังเดียวกันตั้งแต่ แปดสิบห้องขึ้นไป

 

(๓) สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่สองร้อยตารางเมตรขึ้นไป

 

(๔) ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสําหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่สิบห้าเมตรขึ้นไป หรือ มีพื้นที่ตั้งแต่ห้าสิบตารางเมตรขึ้นไป หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือ ส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคารที่มีพื้นที่ตั้งแต่ยี่สิบห้าตารางเมตรขึ้นไป

ข้อ ๕ เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ ตามข้อ ๓ หรือข้อ ๔ ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ซึ่งมีความคุ้มครองไม่ต่ำกว่าที่กําหนดในกฎกระทรวงนี้

 

ข้อ ๖ เมื่อได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งให้ก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคาร ตามข้อ ๓ แล้ว ก่อนเริ่มดําเนินการ ให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ จัดให้ มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตลอดระยะเวลาดําเนินการ โดยมีจํานวนเงินเอาประกันภัยตามข้อ ๘ และให้เก็บเอกสารการจัดให้มี การประกันภัยดังกล่าวไว้ และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบได้ทุกเวลา

 

ข้อ ๗ เมื่อได้ก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารตามข้อ ๔ เสร็จแล้ว ให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร จัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย ต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกอันเนื่องมาจากสภาพหรือการใช้อาคารซึ่งเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคารนั้นต้องรับผิด โดยมีจํานวนเงินที่เอาประกันภัยตามข้อ ๔ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือเปลี่ยนแปลงการใช้อาคารแล้วเสร็จ

 

การจัดให้มีการประกันภัยอาคารตามวรรคหนึ่ง เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารต้องจัด ให้มีการประกันภัยตลอดระยะเวลาที่ใช้อาคารนั้นและให้เก็บเอกสารการจัดให้มีการประกันภัยดังกล่าวไว้ และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบได้ทุกเวลา

 

ข้อ ๘ การประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอกตามกฎกระทรวงนี้ ให้มีจํานวนเงินเอาประกันภัย ดังต่อไปนี้

 

(๑) กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจํานวนไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อคน และค่ารักษาพยาบาล ไม่ต่ำกว่าหนึ่งแสนบาทต่อคน รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาทต่อครั้ง

 

(๒) ความเสียหายต่อทรัพย์สินจํานวนไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาทต่อครั้ง

 

การได้รับค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยตามวรรคหนึ่ง ไม่เป็นการตัดสิทธิผู้เสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกฎหมายอื่น

 

ข้อ ๔ เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการตามข้อ ๓ ที่ดําเนินการ ก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอนอาคาร อยู่ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ และยังไม่แล้วเสร็จ ในวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ต้องจัดให้มีการประกันภัยตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับและให้เก็บเอกสารการจัดให้มีการประกันภัยดังกล่าวไว้และพร้อมที่จะให้ เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจสอบได้ทุกเวลา

 

ระยะเวลาการเอาประกันภัยตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่ต่ำกว่าระยะเวลาตามอายุใบอนุญาตหรือ ใบรับแจ้ง

 

ข้อ ๑๐ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารตามข้อ ๔ ที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ ใช้บังคับ ต้องจัดให้มีการประกันภัยตามกฎกระทรวงนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ ใช้บังคับและให้เก็บเอกสารการจัดให้มีการประกันภัยดังกล่าวไว้ และพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น ตรวจสอบได้ทุกเวลา

 

ข้อ ๑๑ เอกสารการจัดให้มีการประกันภัยตามข้อ ๖ ข้อ ๗ ข้อ ๙ และข้อ ๑๐ จะจัดเก็บ โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

 

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๔

 

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวงกําหนดชนิดหรือประเภท ของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ ต้องทําการประกันภัยความรับผิด ตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก พ.ศ. ๒๕๔๘ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน ข้อกําหนดบางประการมีความไม่เหมาะสมกับกาลปัจจุบัน ประกอบกับมาตรา ๓๒ ตรี แห่งพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๘ บัญญัติให้เจ้าของอาคาร ผู้ครอบครองอาคาร หรือผู้ดําเนินการ สําหรับอาคารชนิดหรือประเภทตามที่กําหนด ในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๔ (๑๖) ต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และจํานวนเงินเอาประกันภัย ที่รัฐมนตรีกําหนดในกฎกระทรวง สมควรที่จะได้ปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวเพื่อเพิ่มความคุ้มครอง ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอกทั้งที่เกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย หรือรื้อถอน และจากการเข้าใช้อาคารบางประเภท โดยมีจํานวนเงินเอาประกันภัยที่ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

มท.ประกาศอาคารที่ต้องทําประกันภัยตามก.ม.ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน   มท.ประกาศอาคารที่ต้องทําประกันภัยตามก.ม.ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน   มท.ประกาศอาคารที่ต้องทําประกันภัยตามก.ม.ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน   มท.ประกาศอาคารที่ต้องทําประกันภัยตามก.ม.ระหว่างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน