ตลาดอสังหาฯทรงตัว ที่อยู่อาศัยเหลือขาย 2.2 แสนหน่วย คาดเกือบ 5 ปีถึงขายหมด

11 ส.ค. 2564 | 07:39 น.

ลุมพินี วิสดอม ฯ เผยแนวโน้มตลาดอสังหาฯ ชี้ ช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น ประเมินหากโควิดจบก่อนไตรมาส 3 มูลค่าลงทุนใหม่ ทรงตัว อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อลดลง ส่งผลหน่วยคงเหลือยังสูง 2.2 แสนหน่วย คาดใช้กว่าเกือบ 5 ปีถึงขายหมด

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ LPN กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 ว่า หาก รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ภายในไตรมาสสามของปี 2564 จะทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายไตรมาสสาม และไตรมาสสี่ ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 52,000-60,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 5% ถึงขยายตัว 8% ในปี 2564 เทียบกับปี 2563  

 

อย่างไรก็ตาม ผลจากสถานการณ์การเปิดตัวโครงการใหม่ที่หดตัวลง บวกกับอัตราการขายได้เฉลี่ยที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่าหน่วยคงค้างในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีแนวโน้มทรงตัวจากสิ้นปี 2563 โดยมีจำนวนทั้งหมดประมาณ 222,000 หน่วย อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 51 เดือนเพื่อระบายหน่วยคงค้างทั้งหมด 

 

ซึ่งแบ่งออกเป็นหน่วยคงค้างประเภทอาคารชุดประมาณ 85,300 หน่วย หดตัวลงจากสิ้นปีที่ผ่านมาประมาณ 6% จากการชะลอแผนและเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ในขณะที่หน่วยคงค้างของบ้านพักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 4% เป็นจำนวนประมาณ 136,700 หน่วย ผลจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นพัฒนาบ้านพักอาศัยมากกว่าอาคารชุด เพื่อตอบรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่และมีความเป็นส่วนตัว(Privacy) มากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 และแนวโน้มที่ต้องทำงานที่บ้าน(Work from home) มากขึ้น 
 

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในไตรมาสสองของปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ประกอบกับการที่ภาครัฐ ได้เริ่มมีการออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึงแม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่อาจจะยืดเยื้อจากไตรมาสสาม ไปไตรมาสสี่ 

 

อาทิ มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนกรกฏาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนที่วางไว้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น หน่วยคงค้างของตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มคงที่ จากอัตราการระบายเฉลี่ยลดลง ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงแตะระดับ 2 ล้านกว่าคน ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90%  ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง แหล่งเงินทุนอย่างสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาด และการตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 

 

“อย่างไรก็ตาม ถ้ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ในไตรมาสสามของปี 2564 รวมถึงสามารถเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ในขณะที่ภาคการส่งออกและภาคการผลิตยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในอัตราต่ำ เป็นปัจจัยที่ อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว