ล็อกดาวน์ หยุดก่อสร้าง 1 เดือน วิชา มหาคุณ ซัดอันตรายใหญ่หลวง

02 ก.ค. 2564 | 06:31 น.

สั่งปิดแคมป์ 1 เดือน วิชา มหาคุณ ซัดกระทบก่อสร้างทั่วกรุง อันตรายใหญ่หลวง ถาม เหตุใด วิชาชีพวิศวกรรม ไม่กล้าหาญ ทักท้วงอย่างทันท่วงที ด้าน วสท.ลุ้น นายกผ่อนปรนมาตรการ

2 ก.ค.2564 - นับเป็นวันที่ 5 ของการประกาศล็อกดาวน์กรุงเทพฯ - ปริมณฑล ภายหลังราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนด นายกรัฐมนตรี ลงนาม ออกมาตรการคุมเข้ม พื้นที่สีแดงติดเชื้อโควิด19 กรุงเทพมหานคร-ปริมณฑล

 

ได้แก่ จังหวัดนครปฐม จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ) เริ่ม 28 มิถุนายน 2564  (คลิกอ่านรายละเอียดราชกิจจานุเบกษา)

 

โดยหนึ่งในสาระสำคัญ ระบุ คำสั่ง ล็อกดาวน์ ปิดแคมป์ก่อสร้าง 30 วัน เพื่อเข้าควบคุม และชะลอการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่พักอาศัยของแรงงาน คำสั่งดังกล่าว ครอบคลุม ทำให้การก่อสร้างทั้งหมดในพื้นที่ดังกล่าว ต้องชะงัก หยุดดำเนินการทันที ท่ามกลางความกังวลของคนในวงการก่อสร้าง ผู้รับเหมา และผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ 

ล็อกดาวน์ หยุดก่อสร้าง 1 เดือน วิชา มหาคุณ ซัดอันตรายใหญ่หลวง

ล่าสุด ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Professor Vicha Mahakun วิพากษ์วิจารณ์ ถึงกรณีดังกล่าว และสื่อความ ถามไปถึง ผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม โดยมีรายละเอียด ระบุว่า .....

 

เหตุใดผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม จึงปล่อยให้ผู้มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน สั่งให้หยุดก่อสร้างทั้งหมด ทั่วกรุงเทพมหานคร เป็นเวลา 1 เดือน ด้วยความกลัวว่าโรคโควิด-19 จะระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยมิได้ทักท้วง ตามแนวทางแห่งจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพ ที่ต้องยึดถือไว้ตลอดชีวิต ตามหลักอันเป็นเลิศของวิชาชีพ (Professionalism) 4 ประการ คือ 

 

1)ความรอบรู้  (prudence)
2)ความกล้าหาญ (courage)
3) ความพอประมาณ (sufficiency)
4) ความยุติธรรม (justice)

 

ถามว่า ความกล้าหาญในทางวิชาชีพ ( professional courage)ของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมนั้น ได้ใช้อย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ถ้าท่านมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม เพราะท่านรอบรู้กว่าผู้อื่นในการก่อสร้าง ท่านต้องกล้าที่จะโต้แย้งคัดค้านผู้มีอำนาจ อย่างถึงที่สุด

 

ว่าการออกคำสั่งแบบไม่พิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบของผู้ที่ขาดความรอบรู้ในวิชาชีพวิศวกรรมนั้น ย่อมกระทบถึงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หลายร้อยแห่งในกรุงเทพมหานคร หากต้องหยุดก่อสร้างอย่างฉับพลัน เป็นเวลาถึง 1 เดือน 

 

ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการก่อสร้าง หรือต้องผ่านบริเวณที่มีการก่อสร้างเหล่านั้น จริงอยู่แม้ทางโครงการที่มีความเสี่ยงอาจยื่นคำขอต่อผู้มีอำนาจ ให้ผ่อนคลาย หรือยินยอมให้ก่อสร้างต่อไปได้

 

โดยมีมาตรการควบคุมคนงานมิให้ติดเชื้อโควิด แต่กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้ เพราะการพิจารณาผ่อนผันตามระบบราชการนั้น มิได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วดังที่พวกเราก็ทราบดี

 

อนึ่งผู้มีอำนาจในศบค.ส่วนหนึ่งก็คือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์ ที่ต้องมีความรอบรู้ ความกล้าหาญ ความพอประมาณ และความยุติธรรม เช่นเดียวกับผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรม กฎหมาย และวิชาชีพอื่นๆ ทั้งต้องคำนึงอยู่ทุกลมหายใจว่าผู้ประกอบวิชาชีพนั้น ต้องทำในสิ่งที่ดีที่สุด (best practice) และมีประสิทธิภาพสูง(high performance) 

 

จึงจะถือว่าได้ปฎิบัติหน้าที่อันสมควรที่จะได้รับความเชื่อถือ ศรัทธา และไว้วางใจ จึงขอฝากบทเรียนในปัญหาด้านจริยธรรมวิชาชีพ ให้ท่านได้โปรดพิจารณาในการออกคำสั่งครั้งต่อไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ประเด็นล็อกดาวน์ กทม. และ สั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง ถูกตั้งคำถาม และมีข้อเรียกร้องออกมาจาก สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เช่นกัน

ล็อกดาวน์ หยุดก่อสร้าง 1 เดือน วิชา มหาคุณ ซัดอันตรายใหญ่หลวง

โดยทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ระบุ ขอให้รัฐบาล ผ่อนปรนมาตรการสั่งหยุดก่อสร้างในโครงการขนาดใหญ่ ที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตราย กระทบเรื่องเสถียรภาพของโครงสร้างอาคารงานที่กำลังจะดำเนินการ

 

เช่น งานที่ดำเนินการติดตั้งเหล็กเสริม คาน พื้น เรียบร้อยแล้ว มีแผนการตรวจสอบความถูกต้อง ความมั่นคง แข็งแรง ของไม้แบบ ค้ำยันต่าง ๆ  พร้อมที่จะกำหนดเทคอนกรีตได้แล้ว ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่มีการทำต่อเนื่อง เหล็กเสริมที่เตรียมการไว้เกิดเป็นสนิม นั่งร้านค้ำยันที่ติดตั้งไว้ชั่วคราว ต้องมีการตรวจสอบตลอดเวลา อาจมีการเคลื่อนย้าย งานบางอย่างต้องทำต่อเนื่อง การขุดเจาะอุโมงค์ การดันท่อลอด การขุดชั้นใต้ดิน  เป็นต้น

ล็อกดาวน์ หยุดก่อสร้าง 1 เดือน วิชา มหาคุณ ซัดอันตรายใหญ่หลวง

ขณะวานนี้ วสท. นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ดูงานการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ บน ถนนพระราม 4  ซึ่งอยู่ในในขั้นตอน ก่อสร้าง ชั้นใต้ดินลึก 4 ชั้น เผยถึงความกังวล ว่าหากหยุดก่อสร้างเป็นเวลานาน จะมีผลกระทบ และเสี่ยงเกิดอันตราย เช่น กำแพงกันดินจะถล่มลงมา กรณีเกิดฝนตก เกิดความเสียหายต่อโครงการ และถนนพระราม 4 อาจทรุดตัว 

 

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง วสท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และ ผู้ว่า กทม. ได้รับการตอบรับอย่างไม่เป็นทางการว่า ศบค. เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และขณะนี้ สำนักการโยธา กทม. ได้ส่งเรื่องเสนอ ศบค. ให้มีการผ่อนปรนแล้ว แต่อยู่ระหว่างรอประกาศยืนยันจาก ศบค. ต่อไป