แรงงานก่อสร้างเสี่ยง ทั้งขาดแคลน-ไร้เยียวยา วอนรัฐโดดอุ้ม

15 เม.ย. 2563 | 07:40 น.

 ไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ถล่มส่งผลให้มีคนว่างงานในประเทศทันทีไม่ตํ่ากว่า 7 แสนราย แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือในทุกสาขาอาชีพ จากการปิดห้างสรรพสินค้า สถานประกอบการ หาบเร่แผงลอย แท็กซี่ วินรถจักรยานยนต์ ยันภาคเกษตร ทว่าดูเหมือนยังไม่ครอบคลุม กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง รับเหมา แรงงาน บริษัทที่ปรึกษา สถาปนิก วิศวกรต่างๆ ที่ต้องหยุดทำงานชั่วคราวหรือตกงานทันทีเมื่อเจ้าของกิจการไม่มีสภาพคล่อง แต่คนกลุ่มนี้นับแสนรายกลับไม่ได้รับความคุ้มครองจาก มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” หรือที่เรียกว่าตกหล่น

ซํ้าร้ายกว่าคือการประกาศ เคอร์ฟิว กำหนดเวลาให้บุคคลเข้าเคหสถานภายในเวลาไม่เกิน 22.00 น. เป็นเหตุให้การทำงานตามสำนักงาน, ไซต์งาน อย่างโครงการขนาดใหญ่ ของรัฐ อย่าง ทางด่วน รถไฟฟ้า โครงการภาคเอกชนนับ 100 โครงการ ไม่สามารถลงมือได้ในช่วงเวลากลางคืน สิ่งที่อาจเกิดขึ้นตามมา นั่นคือความล่าช้า งานก่อสร้างต่อยืดออกไปไม่แล้วเสร็จตามสัญญาเอกชน ต้องวางแผนปรับเวลาการทำงานใหม่ ในช่วงกลางวันอาจกระทบต่อการเดินทางประชาชน เนื่องจากต้องใช้เครื่องจักร

ขนาดใหญ่ เสี่ยงอันตรายต่อชิ้นส่วนงานก่อสร้างตกหล่น และหากเพิ่มความเข้มข้นเคอร์ฟิว 24 ชั่วโมง เชื่อว่าทุกไซต์งานจำต้องปิดตัวลง สร้างผลกระทบในวงกว้าง

 นอกจากงานจะช้า สภาพคล่องบริษัทรับเหมาก่อสร้างลดลงแล้ว อีกผล

กระทบรุนแรง ที่ต้องเผชิญนั่นคือ วิกฤติแรงงานต่างด้าวที่หายไปจากระบบ 3 แสนคน 1.จากความตื่นตกใจกลัวผลกระทบโควิด ทยอยเดินทางกลับบ้านตั้งแต่ เดือนมกราคม ไม่ตํ่ากว่า 2 แสนราย และ 2. ช่วงปิดด่าน ผลกระทบจากวีซ่าหมดอายุ อีก 5-8 หมื่นราย ทำให้แรงงานที่พร้อมลงมือทำงาน ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานรัฐ โครง การก่อสร้างที่อยู่อาศัย บ้านแนวราบ คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน มีจำนวนลดลง ฉุดการก่อสร้างล่าช้า เสียหายผู้ประกอบการ

อสังหาริมทรัพย์ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง ต่างแบกภาระดอกเบี้ย

 “ฐานเศรษฐกิจ” สำรวจไซต์งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) สอบถามคนงานไทยที่ระบุว่า แรงงานต่างด้าว ลดลงจริง มีทั้งกลัวโควิดและบัตรหมดอายุ

 ขณะการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ได้รับผลกระทบเช่นกัน กรณีแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ

นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย ยอมรับว่า เห็นได้ชัดจากงานก่อสร้างมีความล่าช้าออกไป โดยเฉพาะคอนโด มิเนียมที่เป็นตึกสูงจำนวนหน่วยตั้งแต่ 500 หน่วยขึ้นไป ต้องใช้แรงงาน 700 คน ต่อ 1 โครงการ และ 90% เป็นแรงงานด่างด้าว ชาวเมียนมา และกัมพูชา ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 500 คนเท่านั้น

แรงงานก่อสร้างเสี่ยง ทั้งขาดแคลน-ไร้เยียวยา วอนรัฐโดดอุ้ม

 สำหรับทางออก รัฐบาลต้องให้แรงงานต่างด้าวเกิดความมั่นใจว่าสามารถอยู่ต่อภายในประเทศอย่างปลอดภัย ทั้งอำนวยความสะดวก หากใบอนุญาตทำงานวีซ่าหมดอายุไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย โดยไม่มีการจับ ปรับ ดำเนินคดี เมื่อมีการตรวจไซต์งานที่อาจเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ประกอบการ ในยามวิกฤติ

 อีกประเด็นที่ยังไม่มีใครพูดถึง นั่นคือการจัดให้มีประกันอุบัติเหตุหมู่ ตลอดถึงประกันโควิดราคาถูก ให้กับแรงงานก่อสร้าง

 

เนื่องจากมองว่าก่อสร้างเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง ในแง่ของการรักษาพยาบาลมีประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนก็ครอบคลุมได้พอแล้ว ในเรื่องการรักษาแต่การเบิกจ่ายในกรณีอุบัติเหตุและสูญเสียอวัยวะจากประกันสังคมนั้นล่าช้ามาก จึงควรพิจารณาประกันอุบัติเหตุ เป็นอันดับแรก ส่วนประกันโควิด อาจพิจารณารองลงมา เนื่องจาก แรงงานส่วนใหญ่มักอยู่ตามไซต์งาน ทำงานตากแดดกลางแจ้ง การพักอาศัยมักอยู่บริเวณแคมป์คนงาน แต่อาจมีความเสี่ยงบ้าง หากคนงานเดินทางไปยังสถานที่ชุมนุมคนขนาดใหญ่ เช่นตามตลาดนัดตลาดสด โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานซึ่งเป็นแม่บ้าน หากรัฐ มีมาตรการช่วยเหลือด้านประกันชีวิตกลุ่มราคาถูกให้กับแรงงานเพิ่ม น่าจะเป็นประโยชน์ กับบริษัทประกันชีวิตจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น นับแสนราย โดยค่าใช้จ่ายเอกชนเป็นผู้ออก

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า วันนี้นอกจากแรงงานต่างด้าวขาดแคลน จากการตื่นตกใจหนีกลับประเทศของ ไวรัสโควิด-19 2-3 แสนรายแล้ว ยังมีผลกระทบจากการประกาศเคอร์ฟิว ลดชั่วโมงการทำงาน การตัดขาดเส้นทางคมนาคม

 อีกทั้งปัญหาวัสดุ-อุปกรณ์ ที่ต้องนำเข้าล้วนแต่อยู่แถบยุโรป และจีน ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงโควิด ปัจจุบันไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ จนกว่าโควิดจะหายไปจากโลกนี้ นั่นหมายถึง อายุสัญญาของผู้รับจ้างจะต้องต่อออกไปโดยอัตโนมัติ หากครบกำหนดสัญญา เพราะไม่เป็นความผิดจากเอกชน แต่สิ่งที่เอกชนต้องการคือ เงินค่างวด งาน เงินค่าเค หรือเงินที่เบิกจ่ายตามความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น ราคานํ้ามัน เพื่อเติมสภาพคล่องให้กับบริษัทเอกชน

 เชื่อว่ารัฐจะผลักดันงานในมือผู้รับเหมาให้เดินหน้าอย่างไม่สะดุดและเหลียวดูแรงงานให้ได้รับการดูแลด้วย

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12-15 เมษายน 2563