ผนังคอนกรีตความต้องการพุ่ง “ซีแพนเนล” สบช่อง ผนึก บิ๊กอสังหาฯ รุกคอนกรีตสำเร็จรูป โกยรายได้ ยันตลาดในครึ่งหลัง ปี 62 ที่อยู่อาศัยในกทม. ยังโต-เมกะโปรเจ็กต์รัฐรอรัฐบาลชุดใหม่ดันต่อ
นวัตกรรมวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะคอนกรีตสำเร็จรูปปัจจุบันเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับการรุกตลาดภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งโครงการของภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยรูปแบบคอนโดมิเนียมและบ้านแนวราบที่สร้างได้เร็ว ส่งมอบเร็ว ลูกค้าพึงพอใจ ประการสำคัญยังสามารถประหยัดต้นทุนการผลิตได้อีกด้วย
ทั้งนี้นายชาคริต ทีปกรสุขเกษมกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีแพนเนล จำกัด (CPanel) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หากกล่าวถึงมุมมองธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กับแนวโน้มการเติบโตของผนังคอนกรีตสำเร็จรูปที่ปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสามารถเป็นผู้นำตลาดผนังคอนกรีตสำเร็จรูปอันดับต้นๆของประเทศ โดยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ยังมีอัตราส่วนค่อนข้างมาก
สำหรับภาพรวมตลาดในครึ่งหลังปี 2562 นี้ยังเน้นตลาดในกรุงเทพฯเป็นหลัก และรุกตลาดต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ประการสำคัญงานในส่วนภาครัฐยังมีปริมาณมากเร่งขับเคลื่อนออกมาป้อนตลาดและคาดหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะยังเดินหน้าผลักดันต่อไป
ประการสำคัญภาคอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้กังวลมาตรการภาครัฐมากนัก แต่จะให้ความสำคัญต่อมาตรการจากธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่า ประกอบกับขณะนี้ดีมานด์ความต้องการที่อยู่อาศัยยังไม่ได้ลดน้อยลงไปแต่อย่างใด บ้านแนวราบไม่ได้หายไปไหน และส่วนมากจะซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง น้อยรายที่จะซื้อเพื่อเอาไปปล่อยเช่า แตกต่างจากตลาดคอนโดมิเนียมที่เห็นตัวเลขการเช่าชัดเจนกว่า
สำหรับผลกระทบจากมาตรการธปท.นั้นยังเห็นว่าส่งผลกระทบถึงบ้านหลังที่ 2 ที่ผู้ซื้อและผู้คํ้าประกันจะได้รับผลพวงตามไปด้วย ยังเชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะเลือกซื้อคอนโดมิเนียมและรถยนต์เป็นอันดับแรกและอันดับที่ 2 ต่อเนื่องหรือพร้อมกันไป ดังนั้นมาตรการข้อจำกัดเรื่องบ้านหลังที่ 2 จึงส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ตามไปด้วยทันที
ดังนั้นทางออกที่ดีธปท.น่าจะมองว่าควรจะแบ่งเซ็กชันระหว่างคอนโดมิเนียมกับบ้านแนวราบออกมาให้ชัดเจน สิ่งสำคัญบ้านจะปล่อยเช่ายากกว่า
“ได้เห็นภาพแล้วว่าผู้ประกอบการคอนโดฯลงมารุกแนวราบ ส่วนลูกค้าบ้านแนวราบที่ใหญ่ก็จะปรับตัวใหญ่ขึ้นไปอีก รายกลางรายย่อยหายไปจากระบบ การต่อรองสินค้าจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทีมงานต้องมืออาชีพ แม้ว่ารายกลางรายย่อยจะได้เปรียบเรื่องต้นทุนที่ดินที่ไม่ต้องซื้อมาพัฒนาโครงการ ยิ่งเฉพาะรายต่างจังหวัดยังถือครองที่ดินมานานแต่ปัญหาที่พบคือรายเล็กไม่ต่อเนื่องการพัฒนาจากปัจจัยเรื่องต่างๆไม่สามารถบริหารจัดการอย่างมืออาชีพได้ ยกตัวอย่างของการเข้ามาใช้งานระบบพรีแคสต์ยังต้องปรับตัวอีกมาก ใช้อย่างไรให้รวดเร็ว ถูกต้องและลดความเสี่ยงได้ รายใหญ่ได้เปรียบในการใช้งานมากกว่า พรีแคสต์ไม่ได้ถูกกว่าแต่ใช้งานได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงพบว่ารายใหญ่เมื่อปิดการขายแล้วเสร็จจะเริ่มวางแผนโครงการต่อไปได้รวดเร็วกว่า”
สำหรับกลยุทธ์ดำเนินธุรกิจในครึ่งหลังปี 2562 นี้ยังเน้นรักษาฐานลูกค้าเดิม พร้อมเดินหน้าทำตลาดแนะนำผลิตภัณฑ์กับลูกค้ารายใหม่ เน้นโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีรูปแบบโครงการหลากหลาย อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ราย แล้วยังมุ่งรับงานก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3482 วันที่ 27-29 มิถุนายน 2562