“ขยับปรับ จุดเปลี่ยน” ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย ปี 2562

13 ก.พ. 2562 | 06:46 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ซีบีอาร์อี ชี้ปี 2562 จุดเปลี่ยนตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย หลังต้องเผชิญปัจจัยท้าทายหลายด้าน  ตลาดหลักคอนโดมิเนียมจ่อชะลอตัวในรอบ 4ปี ขณะที่พฤติกรรมคนซื้อเปลี่ยน ระมัดระวังมากขึ้น ส่งผลโปรดักส์ ระดับราคาและทำเลโครงการเปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อ แนวโน้มตลาดยังมีโอกาสเป็นบวก

อลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย

นางสาวอลิวัสสา พัฒนถาบุตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีบีอาร์อี  (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 ว่าปีนี้  ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในหลายด้าน ทั้งด้านการชะลอตัวของตลาดในหลายๆภาคและซัพพลายใหม่จำนวนมากที่กำลังจะออกสู่ตลาด โดยคาดว่าตลอดช่วงไตรมาสแรกของปี จะเห็นภาพการชะลอตัวอย่างชัดเจน เพราะมีหลายปัจจัยต้องติดตาม ทั้งเรื่องการเลือกตั้ง วันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ ทำให้แนวโน้มเปิดโครงการใหม่ในช่วงดังกล่าวไม่หวือหวา ส่วนกลุ่มลูกค้า มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยลูกค้าไทยและต่างชาติ จะปรับจากการซื้อเพื่อเก็งกำไร ไปสู่การลงทุนระยาวและซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองมากขึ้น รวมถึงพฤติกรรมด้วย ที่จะมีการซื้อแบบระมัดระวังมากขึ้น ทำให้ผู้พัฒนาฯโครงการ ต้องปรับรูปแบบและแผนงาน รวมกลุ่มโปรดักส์ และการตั้งราคาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า พื้นฐานของตลาด โดยเฉพาะความต้องการที่อยู่อาศัย หรือ ดีมานด์ผู้ซื้อ ยังอยู่ในระดับที่ดีมาก จึงเชื่อว่า จะเป็นเพียงการปรับตัว เพื่อไปสู่การขยายตัวรอบใหม่

“ ปีนี้ เป็นปีที่ท้าทายก็จริง แต่ละเซกเตอร์ยังมีการปรับตัว แต่ก็เชื่อว่าถ้าไม่เกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจตลาดยังไปต่อได้ เพราะตลาดอสังหาฯบ้านเรา ค่อนข้างมีความหยืดหยุ่น และทนทานต่อสิ่งที่มากระทบ ยังมีดีมานด์ของคนอยากซื้ออีกจำนวนมากเป็นฐานรองรับ และแม้ดีมานด์ในประเทศ ชะลอตัว แต่ก็ยังมีดีมานด์ต่างประเทศมาทดแทนอยู่ สิ่งที่ต้องดูคือ แต่ละบริษัทจะมีการปรับกันอย่างไร เพื่อก้าวข้ามและนำไปสู่ไซเคิลใหม่ ยังเชื่อภาพรวมน่าจะออกมาในทิศทางบวก”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

ซีบีอาร์อี ยังคาดการณ์ว่า  การแข่งขันในการหาที่ดินแบบมีกรรมสิทธิ์ถาวรหรือฟรีโฮลด์ในทำเลที่หายากในย่านใจกลางเมืองยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม ข้อกำหนดใหม่ๆ รวมถึงผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ที่กำลังจะประกาศใช้ในปี 2563 นี้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้ต้องกลับมาประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง

กฎข้อบังคับใหม่และความไม่แน่นอน

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยจะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลายประการด้วยกัน ทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดมากขึ้น  การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ รวมถึงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ และผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ ที่

ผังเมืองใหม่ของกรุงเทพฯ และภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ที่คาดว่าจะประกาศใช้ในปี 2563 ยังคงอยู่ขั้นตอนการวางแผนและยังไม่เสร็จสิ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดคาดว่าจะเกิดขึ้นในทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อของเส้นทางรถไฟฟ้า

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยเช่นกัน

ความท้าทายในตลาดส่งออกและการท่องเที่ยว

ตลาดส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นภาคธุรกิจสำคัญต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทย จะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการในปีนี้   ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังไม่มีความแน่ชัดว่าจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมส่งออกของไทยในด้านบวกหรือลบ รวมถึงการดึงดูดให้ชาวจีนกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยหลังเหตุการณ์เรือล่มในภูเก็ตก็ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดสำหรับภาคการท่องเที่ยว   ทั้งนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะเป็นตัวช่วยบ่งชี้ถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยวจีนที่มีต่อไทย

ซีบีอาร์อีเชื่อว่าตลาดการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ จะสามารถฟื้นคืนกลับสู่สภาวะเดิมได้อย่างรวดเร็วแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากปริมาณนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลง  ดังเช่นเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองหลายๆ ครั้งในอดีตที่ผ่านมา ที่สามารถฟื้นตัวกลับมาเข้มแข็งกว่าเดิม

เงินดาวน์ที่สูงขึ้นทำให้ตลาดที่พักอาศัยชะลอตัวลง

ความต้องการจากนักเก็งกำไรและนักลงทุนที่ซื้อเพื่อปล่อยเช่าจะลดลง เนื่องจากราคาคอนโดมีเนียมที่สูงขึ้นจากต้นทุนที่ดิน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินดาวน์ที่เพิ่มมากขึ้นตามกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้การสร้างผลกำไรจากการปล่อยเช่าและการขายต่อคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นทำได้ยากขึ้น  ตลาดจะกลับมาให้ความสำคัญกับผู้ที่ซื้อเพื่อพักอาศัยเองและการขายยูนิตที่เหลือขายในโครงการที่แล้วเสร็จ

จากความต้องการภายในประเทศที่ลดลงส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการหันไปโฟกัสที่ผู้ซื้อต่างชาติที่ใช้เงินทุนของตนเองในการซื้อคอนโดมิเนียม  แต่หากจะพึ่งพาการขายให้ผู้ซื้อต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ก็อาจเกิดความไม่แน่นอนว่าผู้ซื้อต่างชาติเหล่านี้จะโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่เมื่อโครงการแล้วเสร็จ รวมถึงผู้ที่จะพักอาศัยในยูนิตเหล่านั้นจะเป็นใคร  นอกจากนี้ ผู้ซื้อต่างชาติยังมีความอ่อนไหวจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศของตนอีกด้วย

การแข่งขันสูงขึ้นในตลาดคอนโดมิเนียมระดับบน

ในปีที่ผ่านมาผู้พัฒนาโครงการหลายรายได้เปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ ด้วยราคาขายที่สูงกว่า 3 แสนบาทต่อตารางเมตร  และดูเหมือนว่าราคาขาย 2.5แสนบาทต่อตารางเมตรจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในตลาดจะมีทั้งโครงการที่ขายดีและไม่ดี  ขึ้นอยู่กับการวางตำแหน่งของสินค้าและราคาที่เหมาะสม การที่ตลาดนี้มีตัวเลือกมากมายในระดับราคานี้ ก็ย่อมทำให้ยอดขายโดย รวมในหลายโครงการชะลอตัว  รวมทั้งมีการลดราคายูนิตเหลือขายในโครงการที่แล้วเสร็จหลายแห่งเพื่อเคลียร์สินค้าที่มีอยู่ให้หมดไป

ปริมาณคอนโดมิเนียมที่เปิดตัวใหม่ในย่านใจกลางกรุงเทพฯ

โครงการใหม่ไม่ได้แข่งขันกันด้วยราคาที่จับต้องได้เท่านั้น แต่ผู้พัฒนาโครงการต่าง ๆ พยายามหาจุดขายที่โดดเด่นเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ ระบบบ้านอัจฉริยะ การจัดการปล่อยเช่า และการพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูส เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของจุดขายที่มีในตลาดปัจจุบัน  ภายใต้สภาวะตลาดที่มีการแข่งขันสูงเช่นนี้ ซีบีอาร์อีเชื่อว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จจะไม่ใช่โครงการที่ได้รับการออกแบบหรือมีผังห้องที่ดีที่สุดเท่านั้น แต่ต้องเป็นโครงการที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตได้ตรงใจและอยู่ในราคาที่เหมาะสมด้วย

ซีบีอาร์อีเชื่อว่าปี 2562 จะเป็นโอกาสทองของกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่เองและลงทุนในระยะยาวเนื่องจากมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เข้มงวดขึ้น จะทำให้จำนวนผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ลดน้อยลง ในขณะที่ผู้พัฒนาจะต้องแข่งขันที่จะเร่งระบายสินค้าคงเหลือก่อนที่มาตรการดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ ผู้ซื้ออาจสามารถซื้อโครงการที่ใกล้จะสร้างเสร็จในราคาที่เท่ากับตอนที่โครงการเปิดตัวได้

ความต้องการพื้นที่สำนักงานที่เปลี่ยนแปลงไป

ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ

จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตลาดพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ เองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสในเรื่องของพื้นที่ทำงานที่มีความคล่องตัว (Agile Workplace) และโคเวิร์กกิ้งสเปซ ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเช่าพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ พื้นที่สำนักงานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะสร้างแรงกดดันให้กับอาคารสำนักงานเก่าให้มีการปรับปรุงและยกระดับเพื่อให้คงความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่กำลังเปลี่ยนไป

ในอีก 4 ปี กรุงเทพฯ จะมีการเปลี่ยนแปลงในตลาดอาคารสำนักงาน เนื่องจากพื้นที่ 2  ล้านตารางเมตรที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและการวางแผนจะเข้าสู่ตลาด ซีบีอาร์อีคาดว่าการใช้พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯ จะอยู่ที่ 2 แสนตารางเมตรต่อปี

การปรับตัวในตลาดค้าปลีก

จากการที่ตลาดค้าปลีกทั่วโลกขยับไปสู่อี-คอมเมิร์ซและการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น  ตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ เองก็กำลังค่อยๆ เดินไปในทิศทางเดียวกัน    ผู้ค้าปลีกที่มีหน้าร้านต่างคิดหากลยุทธ์ในการนำเสนอสิ่งที่การซื้อขายออนไลน์ไม่สามารถให้ได้  เช่น การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ในศูนย์การค้า หรือทำให้ร้านเป็น Retailtainment หรือการผสมผสานความบันเทิงกับการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่าง

ซีบีอาร์อีคาดการณ์ว่าตลาดค้าปลีกจะมีแนวโน้มที่ดีซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว  อัตราการเช่าพื้นที่จะยังคงอยู่ในระดับที่สูง แต่พื้นที่ค้าปลีกใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นก็มีมาก  ศูนย์การค้าที่มีผลประกอบการไม่ดีนักจะมีปัญหาในการรักษาและดึงดูดผู้เช่า ทั้งยังต้องเผชิญกับการแข่งขันจากอี-คอมเมิร์ซและและซัพพลายใหม่ในอนาคต  แต่ค่าเช่าจะยังคงไม่มีความเปลี่ยนแปลง

อีอีซี: แรงจูงใจในตลาดอุตสาหกรรม

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะมีความชัดเจนมากขึ้นในปีนี้เมื่อการประมูลโครงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development - TOD) ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่มุ่งหน้าสู่เขตอีอีซีนั้นสิ้นสุดลง ซีบีอาร์อีเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้นจากผู้ผลิตและนักลงทุนต่างชาติเพื่อเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตอีอีซี นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเสนอให้มีสิทธิพิเศษด้านการเงินและการยกเว้นภาษีในเขตปลอดอากรในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่บริษัทผู้ผลิตต่างชาติอีกด้วย

ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าประเทศไทยได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนหรือไม่  แต่ซีบีอาร์อีเห็นว่ามีบริษัทผู้ผลิตจากจีนบางแห่งสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยบริเวณเขตอีอีซี

การลงทุนชะลอตัว

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี จาก 1.50% เป็น 1.75% เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561

อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ต้นทุนในการพัฒนาโครงการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้นเพิ่มขึ้น และยังทำให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศชะลอการซื้อออกไป

ความต้องการในประเทศที่ลดลง ราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น และซัพพลายใหม่จำนวนมาก จะทำให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการเปิดโครงการใหม่และการซื้อที่ดินในปี 2562

ราคาที่ดินสูงสุดในย่านใจกลางธุรกิจหลัก

ที่ดินฟรีโฮลด์ในทำเลชั้นนำของกรุงเทพฯ จะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้า   การที่แปลงที่ดินชั้นดีในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีเหลือไม่มากนัก ส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นไปอีกจากสถิติราคาสูงสุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดินบนถนนหลังสวนที่ราคา 3.1 ล้านบาทต่อตารางวา

ด้วยราคาที่ดินฟรีโฮลด์ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับการเริ่มชะลอตัวของตลาดคอนโดมิเนียม ทำให้ผู้ประกอบการหันมาพิจารณาที่ดินแบบเช่าระยะยาวมากขึ้น โดยมีการปรับแผนการลงทุน และกระจายความเสี่ยงไปยังตลาดอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงาน โรงแรม และ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพัฒนาบนที่ดินแบบฟรีโฮลด์

แอดฐานฯ