ไนท์แฟรงส์ชี้คอนโดไม่ถูกลงเหตุราคาที่ดินพุ่ง

24 ต.ค. 2561 | 11:52 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ไนท์แฟรงศ์ระบุ ผังเมืองใหม่กทม.ยังไม่เอื้อให้เกิดพัฒนาเชิงพาณิชย์ เหตุกำหนดโซนใหม่ตามถนนเดิม แต่ขาดแผนตัดถนนใหม่ ให้เปิดพื้นที่พัฒนา ย้ำการเปลี่ยนสีโซน ไม่ทำให้ราคาคอนโดถูกลง เหตุราคาที่ดินเพิ่ม

นายพนม กาญจนเทียมเท่า กรรรมการผู้จัดการ บริษัท ไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวในการเสวนาพิเศษเรื่อง เปิดลายแทงทำเลธุรกิจ ในงานสัมมนา "ผังเมืองใหม่ เมกะโปรเจ็กต์ พลิกโฉม กทม." ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า ผังเมืองใหม่ที่กทม.จะประกาศใช้ในปี 2562 มีการกำหนดพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจ(ซีบีดี) เพิ่ม 3 จุดคือ 1.รัชดา -พระราม9 2. ลาดพร้าว เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนา บริเวณสถานีบางซื่อ และ3. ฝั่งธนบุรี ตามแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ยังเป็นการพัฒนาตามแนวถนนที่มีในปัจจุบัน ไม่ได้มีแผนในการสร้างโครงข่ายถนนใหม่เพิ่ม เพื่อให้มีการเปิดพื้นที่เชิงพาณิชย์ใหม่ๆ เป็นเพียงการกำหนดโซนพื้นที่ แต่ไม่ได้ทำโครงสร้างพื้นฐานรองรับ

panom

"การกำหนดโซนศูนย์กลางเศรษฐกิจใหม่มีประโยชน์ เพราะจะเป็นแนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แต่เอกชนก็ต้องลงไปพัฒนา ซึ่งไม่ง่ายในการจะไปตัดถนน ซอกซอยให้เกิดขึ้นการพัฒนาเป็นโซนพาณิชย์ เพราะการกำหนดโซนใหม่ยังเป็นไปตามแนวรถไฟฟ้าควบคู่ไปกับพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ อย่างที่สยาม จะเห็นว่า ตามซอยเล็กๆมีร้านค้าเกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง กทม.จะต้องไปทำเพิ่มในการตัดถนน เปิดพื้นที่ให้เกิดการพัฒนา"

นอกจากนั้น ผังเมืองฉบับใหม่ยังให้สิทธิประโยชน์ในการพัฒนาด้วยการเปลี่ยนสีโซน แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนา อย่างเช่น บางพื้นที่เปลี่ยนจากสีเหลือง เป็นส้ม หรือจากส้มเป็นน้ำตาล ซึ่งจะทำให้ FAR เพิ่ม แต่ในบางพื้นที่ ไม่ได้ติดถนน ไม่ได้ติดแนวรถไฟฟ้า จึงไม่ใช่พื้นที่ของการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวสูง ประเภทคอนโดมิเนียม ส่วนใหญ่ยังเป็นแนวราบ ก็จะไม่มีประโยชน์อะไร

อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนสีชัดเจน อย่างพุทธมณฑล จากสีเหลืองเป็นสีน้ำตาล จะทำให้เกิดการพัฒนาบ้านขนาดเล็ก ทาวเฮ้าส์ จะทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นชัดเจนกว่า จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถนำมาพัฒนา หรือซื้อเพื่อเก็งกำไรได้ ทำให้เปิดโอกาสในการพัฒนาที่ดินมากขึ้น แต่ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับนักลงทุนรายย่อยนัก น่าจะสนับสนุนนักลงทุนรายใหญ่หรือการรถไฟที่มีพื้นที่แปลงใหญ่หลายแห่งที่สามารถนำมาพัฒนาได้ ซึ่งจะเกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองขนาดย่อม

bts1

"เรื่องสิทธิประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงโซนนิ่ง ถ้ามองในการพัฒนา ยังไม่มีประโยชน์ยังมีนัยสำคัญ อย่าง FAR 1 ต่อ 7 เป็น 1 ต่อ 7.5 หรือ 1 ต่อ 8 ไม่ได้ทำให้ต้นทุนพัฒนาลดลง อย่างเป็นนัยสำคัญหรือทำให้ราคาคอนโดมิเนียมถูกลง เพราะต้นทุนพัฒนาเพิ่ม จากราคาที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งต้นทุนที่ดินอยู่ที่ 30-35% ของโครงการ ดังนั้นควรให้ FAR เพิ่ม เป็น 1 ต่อ 7.5 หรือ 8 ไม่ได้ทำให้ต้นทุนเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยสำคัญ ที่จะทำให้ราคาคอนโดถูกลง ควรเพิ่มเป็น 1 ต่อ 12 และไทยน่าจะเป็นประเทศเดียวที่ราคาที่อยู่อาศัยสูงกว่าราคาอาคารสำนักงาน

อย่างที่พูดถึงพื้นที่รัชดา-พระราม 9 ที่ราคาคอนโดเพิ่มจาก 1.4-1.8 แสนบาทต่อตรม. รวมถึงพื้นที่พหลโยธิน ก็คาดว่า น่าจะปรับขึ้นตามราคาที่ดินใหม่ อย่างรัชโยธินเอง ตรว.ละ 6-7 แสนบาท จึงเป็นไปไม่ได้ที่ราคาคอนโดจะถูกลง มีแต่จะเพิ่มขึ้น ยกเว้นว่ามีวิกฤติในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือวิกฤติเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศ และอีกพื้นที่คือ ย่านห้าแยกลาดพร้าว จตุจักร บางซื่อ จะมีพื้นที่พัฒนาขนาดใหญ่ด้านสาธารณูปโภค รวมถึงที่ดินหมอชิตเก่า ซึ่งคาดว่ากรมธนารักษ์จะเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการ จะมีการขยายอายุสัญญาและย่านบางซื่อ เชื่อว่าสุดท้ายรถไฟก็ต้องนำที่ดินออกมาประมูลให้เอกชนพัฒนา อย่างไรก็ตาม พื้นที่บริเวณดังกล่าว ยังกระโดดเป็นจุดๆและห่างกัน จึงไม่เป็นแม่เหล็กดึงให้โปรเจ็กต์ใหญ่เข้าไปลงทุน

อย่างไรก็ตาม คาดว่า จากนี้จะมีอาคารสำนักงานใหม่เพิ่มขึ้น 8 แสนตรม.หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 20% จากพื้นที่อาคารพาณิชย์เช่าจริงในตลาดประมาณเกือบ 5 ล้านตรม. และที่เป็นเจ้าของใช้เองประมาณ 3 ล้านตรม. ขณะที่ราคาค่าเช่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเฉลี่ย7%

595959859