แอล.พี.เอ็น.สร้างแต้มต่อ ผสมผสานตลาดลดความเสี่ยง

26 ส.ค. 2560 | 11:02 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จากภาวะวิกฤติการขายในช่วงที่ผ่านมาของ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)(LPN) ทำให้มีห้องเหลือค้างในสต๊อกจำนวนมาก ผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้า “ฐานเศรษฐกิจ” ได้พูดคุยกับ “โอภาส ศรีพยัคฆ์” กรรมการผู้จัดการ แอล.พี.เอ็น.ถึงแนวทางธุรกิจ และการปรับตัว เพื่อการแข่งขันในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่กำลังแข่งกันอย่างดุเดือด

**วางแผนธุรกิจไว้อย่างไร
หลังฟื้นจากเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง เราเน้นทำคอนโดมิเนียมสำหรับชนชั้นกลาง เรามีความเป็นตัวตนของเรา พัฒนาอาคารชุด หรือคอนโดฯ ให้กับคนรายได้ไม่สูงมาก ราคาล้านเฉลี่ยบวกลบ ซึ่งยืนมาได้เกือบๆ 20 ปี ธุรกิจเติบโตมาเรื่อยๆ จากรายได้ 2-3 พันล้านบาท จนล่าสุด 15,500 ล้านบาท

หลังๆ ปัญหาเยอะ คู่แข่งมาก ราคาที่ดินก็ปรับตัวสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้องหนีออกไปชานเมือง เพราะที่ดินในเมือง ตารางวาละ 5 - 8 แสนบาท สู้ไม่ได้ แต่พอมาเจอปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนซัดไป 2-3 ปี ประกอบกับทำโครงการที่มีสเกลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด คือโครงการกว่าหมื่นยูนิต ที่รังสิตคลอง 1

พอเจอปัญหาเหล่านี้ ก็ทำให้สิ่งที่ แอล.พี.เอ็น. เคยโฟกัสต้องปรับสภาพ กลับมาทำตลาดในเมือง มาซื้อที่ดินตารางวาละ 5-6 แสนบาท ทำโครงการขายที่ตารางเมตรละกว่าแสนบาท พร้อมกับปรับกลุ่มเป้าหมายมามุ่งที่กลุ่มบนมากขึ้นในระยะสั้น เนื่องจากตอนนี้สต๊อกห้องค้างขายราคาล้านบวกลบยังเหลือค่อนข้างมาก ในช่วงต้นปี เรามีเหลืออยู่ 1.3 หมื่นยูนิต ปลายปีคาดว่าจะเหลือประมาณ 6-7 พันยูนิต

[caption id="attachment_198241" align="aligncenter" width="503"] โอภาส ศรีพยัคฆ์ โอภาส ศรีพยัคฆ์[/caption]

**รุกขยายเข้าสู่ตลาดบน
จริงๆ แอล.พี.เอ็น. เคยทำโครงการลักชัวรี ชื่อ ลุมพินี 24 ที่สุขุมวิท ก็ประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงนี้ เรากำลังทำเรื่องรีแบรนดิ้ง และรีโพสิชันนิง หลังจากที่เคยทำมาครั้งหนึ่งเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ปีนี้เป็นช่วงเริ่มต้น ใช้งบประมาณไป 10 ล้านบาท แต่ทำเสร็จเรียบร้อยเร็วที่สุดก็น่าจะปีหน้า จะใช้งบโดยรวมประมาณ 30-50 ล้านบาท

เราปรับมาเรื่อยๆ ตั้งแต่การปรับเรื่องของโปรดักต์ ตัวอาคาร การเอาใจลูกค้าด้วยการสร้าง Co-working Space เพื่อรองรับความต้องการของคนรุ่นใหม่ ตอนนี้ทุกอย่างอยู่ในช่วงของการทำเรื่องแบรนด์โมเดล

**กลยุทธ์ตลาดบนระยะสั้น
ต่อไปเราพยายามจะผสมผสาน เมื่อก่อนเราก็เคยทำมาแล้วในช่วงแรก เรามี 4 ซับแบรนด์ จับตลาดตั้งแต่ กลุ่มซีบวกไปบีบวก แต่พอหลังๆ ราคาที่ดินปรับเพิ่ม เราก็ไปสุดโต่งไปที่บีลบ- ซีบวก แล้วทิ้งบีบวกกลางเมืองไป ทิ้งบีลบกลางเมืองไป พอสภาวการณ์กลับมาเราก็คงกลับไปโฟกัสเหมือนเดิม โฟกัสที่การผสมผสานตั้งแต่ เอลบไปยังซีบวก ผสมผสานพอร์ตตามทิศทางที่เราวางไว้

**โครงการใหม่ๆที่จะเปิด
ภายในสิ้นปี เรายังมีอีก 3 โครงการ ราคาตารางเมตรละแสนอัพหมด เดือนกันยายนนี้ เราจะเปิดที่ พหลโยธิน 32 และเดือนพฤศจิกายน จะเปิดอีก 2 โครงการที่พระราม 3 วงแหวน และสาธุประดิษฐ์ ใกล้เซ็นทรัลพระราม 3 รวม 3 โครงการไม่เกิน 1,500 ยูนิต มูลค่ารวมเกือบๆ 5 พันล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกเราเปิดไปแล้ว 7 โครง การ มูลค่ารวมกว่า 9 พันล้านบาท ปกติเราจะเปิดปีละ 10-12 โครงการ ปีนี้ก็ถือว่าตํ่ากว่าเป้าที่วางไว้นิดหน่อย แต่ปีหน้าก็ยังมีแผนเปิดอีก 10-12 โครงการเช่นเดิม

**งบซื้อที่ดินใหม่
ปีนี้ใช้งบซื้อที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท ตอนนี้เหลืออีก 2,500 ล้านบาท ที่ดินตอนนี้ดูอยู่อีก 5 แปลง ซื้อขายไปแล้ว 1 แปลง และกำลังจะทำสัญญาอีก 1 แปลง ส่วนใหญ่อยู่ในเมือง

**รายได้ปีนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ปีนี้ลำบากมาก ตอนนี้เรากำลังปรับสถานะตัวเอง มีโครงการค้างขายเยอะ ส่วนใหญ่รายได้จะมาจากโครงการสร้างเสร็จและค้างขาย เป้ารายได้ที่ตั้งไว้สำหรับรายได้จากคอนโดมิเนียม คือ ประมาณ 7 พันล้านบาท ก็น่าจะได้ประมาณ 6 พันล้านบาท และจะมีโครงการที่เสร็จในปีนี้ ที่น่าจะทำรายได้อีกประมาณ 1 พันล้าน บาทรวมทั้งโครงการที่เร่งซื้อที่
แล้วเปิดตัวตอนต้นปี มาโอนปลายปี น่าจะได้อีก 1 พันล้านบาท รายได้รวมปีนี้ประมาณ 7-8 พันล้านบาท จากเป้า 1 หมื่นล้านบาท ที่มันหลุดเป้าเพราะเจอ Emergency Projects และมีการปรับ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่ง แวดล้อม (สวล.) ทำให้ใช้เวลาเยอะ

ส่วนรายได้อื่นๆ จาก บริษัท พรสันติ จำกัด อีกประมาณ 1 พันล้านบาท ตอนนี้ครึ่งปีได้มาแล้ว 300-400 ล้านบาท และจะมีรายได้จากการบริหารชุมชน อีกกว่า 500 ล้านบาท

**สรุปแผนธุรกิจต่อไปนี้
เราจะไม่ทิ้งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้ว มันทิ้งไม่ได้ พอไปหนักอะไรสักอย่างมันมีความเสี่ยง เราควรยอมรับความจริง ที่ผ่านมา คณะผู้บริหารแอล.พี.เอ็น. รับไม่ได้กับราคาที่ดิน คือ เราพยายามจะไม่ไปตามกระแส ทิศทางการทำธุรกิจของแอล.พี.เอ็น. คือ affordable เราทำบ้านที่ราคาซื้อได้ แต่ตอนนี้ต้องยอมรับว่า มันฝืนตลาดไม่ได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,290 วันที่ 24 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2560