‘อิสรภาพ’ สถานีใต้ดินแรกของฝั่งธนบุรี

24 พ.ย. 2559 | 11:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ช่วงก่อนนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้นำเสนอการออกแบบที่สวยงามของสถานีสนามไชย สถานีวัดมังกรกมลาวาศ ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค/บางซื่อ-ท่าพระพร้อมกับเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ลงไปเยี่ยมชมพื้นที่จริงได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งทั้งๆที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ ทั้งนี้เพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนให้ตื่นตัวกับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางดังกล่าว

R37321205 เช่นเดียวกับในครั้งนี้ที่จะพาผู้อ่านมาเยือนพื้นที่ฝั่งธนบุรีโดยได้นำเสนอ “สถานีอิสรภาพ” ซึ่งจัดว่าเป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีแรกของพื้นที่ฝั่งธนบุรีให้ผู้อ่านได้เห็นถึงความคืบหน้าการก่อสร้างว่าจะสวยงาม สะดวกสบายโอ่โถงหรือกว้างขวางเพียงใดโดยได้การเอื้อเฟื้อข้อมูลภาพจากฝ่ายประชาสัมพันธ์ รฟม.ซึ่งสัญญาช่วงนี้บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) ได้รับดำเนินการก่อสร้าง

R37321204 ปัจจุบันงานสถานีอิสรภาพในหลายส่วนคืบหน้าอย่างมาก ทั้งงานปูพื้น งานติดตั้งฝ้าเพดาน งานก่อกำแพงปล่องลิฟต์ งานติดตั้งหลังคา 2 ชั้นบนสถานี งานติดตั้งราวบันใด ติดตั้งบันไดเลื่อน พัดลมระบายอากาศ หรือแม้กระทั่งห้องน้ำ งานปูพื้นผิวฟุตบาท และระบบไฟฟ้าส่องสว่าง ใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์แล้ว

R37321201 โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ มีศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดพื้นที่ 90 ใกล้กับสถานีเพชรเกษม 48 ระยะทางรวม 27 กิโลเมตร มีทั้งโครงสร้างใต้ดินและโครงสร้างยกระดับ สัญญาที่ 1 (หัวลำโพง-สนามไชย) ซึ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน ล่าสุดมีความคืบหน้าแล้ว 87.60% สัญญา 2 (สนามไชย-ท่าพระ) โครงสร้างใต้ดิน คืบหน้าแล้ว 97.74% สัญญา 3 (เตาปูน-ท่าพระ) โครงสร้างยกระดับ คืบหน้า 59.76% สัญญา 4 (ท่าพระ-หลักสอง) โครงสร้างยกระดับ คืบหน้า 81.16% สัญญา 5 (งานติดตั้งระบบราง) เริ่มติดตั้งเมื่อกันยายน 2559 ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่คืบหน้า 99.93% (ช้ากว่าแผน 0.07% ) โดยงานโยธาเริ่มก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2554 ล่าสุดคืบหน้าแล้ว 85.38% (เร็วกว่าแผน 0.46%)

R37321203 นอกจากนั้นรฟม.ยังได้ดำเนินการคัดเลือกที่ปรึกษา MESC (ที่ปรึกษาควบคุมการติดตั้งระบบรถไฟฟ้า) ปรากฎว่ามีผู้สนใจมารับเอกสารจัดจ้างจำนวน 17 ราย ให้กำหนดยื่นซองข้อเสนอในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 นี้ ส่วนทางด้านงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถที่จัดอยู่ในสัญญา 5 นั้นแม้ว่าจะมีคำสั่งมาตรา 44 ของหัวหน้าคสช.เมื่อ 21 กรกฎาคม 2559 ให้ยุติการดำเนินการตาม พ.ร.บ. ร่วมทุนฯปี พ.ศ.2556 และให้รฟม.กำหนดเกณฑ์แบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร การเชื่อมต่อและการกำหนดระยะเวลาดำเนินการให้สอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล โดยให้รับฟังความเห็นของคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการความร่วมมือและป้องกันการทุจริต ก่อนเสนอนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เห็นชอบ และให้รฟม.เจรจาแก้ไขสัญญากับผู้รับสัมปทานรายเดิม แล้วจึงดำเนินการตามมาตรา 40 หรือมาตรา 47 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ.2556 ต่อไป

ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนี้มีแผนเปิดให้บริการระยะทางช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 และระยะทางช่วงเตาปูน-ท่าพระในเดือนตุลาคม 2562 ส่วนเมื่อเปิดให้บริการผู้คนจะโหรงเหรงเหมือนสายสีม่วง(เตาปูน-บางใหญ่) หรือไม่นั้น คงยังมีลุ้นกันต่อไปแต่ที่แน่ๆจะทำให้การเดินทางจากจุดสิ้นสุดที่สถานีหัวลำโพงและสถานีบางซื่อในปัจจุบันไปสู่เส้นทางถนนจรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม และเจริญกรุง ได้รับความสะดวกมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,212 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน 2559